วันที่ 6 ตุลาคม 2564 ศูนย์คุณธรรมร่วมกับนักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร  จัดเวทีเสวนานวัตกรรมการจัดการศึกษาในช่วงวิกฤตโควิดด้วยพลังบวก ไขปมการศึกษา ยุคโควิดครั้งที่ 2 : นโยบายและมาตรการการสนับสนุนการสอนในยุคโควิดของกระทรวงศึกษา ได้รับเกียรติจาก ดร.เกศทิพย์ ศุภาวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ

 

ดร.จารุณี  ทองสุข  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคาโต จังหวัดปัตตานี และ รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม โดยมี ผศ.ดร.สืบวงศ์  กาฬวงศ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ มีผู้อำนวยการ ครูจากโรงเรียนเครือข่ายของศูนย์คุณธรรมทั่วประเทศเข้าร่วมรับฟังการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้จำนวนกว่า 120 คน

 
ดร.เกศทิพย์ ศุภาวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แจ้งนโยบายและมาตรการการสนับสนุนการสอนในยุคโควิดของกระทรวงศึกษา คือ เสนอทางเลือกให้กับโรงเรียนในการเลือกรูปแบบการเรียนการสอน 5 ประการ ได้แก่ On-site เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 On-air เรียนผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ DLTV On-demand เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ On-line เรียนผ่านอินเตอร์เน็ต และ On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือ แบบฝึกหัดใบงาน ในรูปแบบผสมผสาน รวมทั้งมีการช่วยลดภาระผู้ปกครองด้วยการสนับสนุนงบประมาณ ให้เด็ก คนละ 2,000 บาท และมีโครงการคุรุทายาท พัฒนาผู้บริหารโรงเรียน หวังเปลี่ยน mindset เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง บริการจัดการศึกษาแบบบูรณาการและตอบโจทย์ศักยภาพเด็กและผู้ปกครอง ปรับบทบาทเป็นพี่เลี้ยงคุณครู
ดร.จารุณี  ทองสุข  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคาโต จังหวัดปัตตานี ต้นแบบในการแก้ไขปัญหาการเรียนออนไลน์ ปัญหาด้านเครื่องมือในการเรียนออนไลน์ ปัญหาผู้ปกครองทำการบ้านให้นักเรียน มีการทำข้อมูลสภาพปัญหาของเด็กเป็นรายบุคคลจนพัฒนาเป็นโมเดล Homemade leaning ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองไม่ให้เป็นภาระในการดูแลลูกๆในการเรียนออนไลน์ เน้นการทำกิจกรรมสร้างทักษะอาชีพผ่านโครงงาน และนำเสนอในระบบออนไลน์ เป็นรูปแบบ on the job training  สร้างการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ครูต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นพี่เลี้ยงมากกว่าการอบรมสั่งสอน ผอ.โรงเรียนต้องทำความเข้าใจกับบุคลากรในโรงเรียนในการปรับบทบาทจากครูเป็นพี่เลี้ยงมากขึ้น
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ฝากความเห็นกับกระทรวงศึกษา อยากเห็นทิศทางการจัดการศึกษามุ่งเป้า เด็กเก่ง เด็กมีความสุข จากประสบการณ์ พบว่า คุณครูในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล มักจะคิดนอกกรอบเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเด็กได้เรียนรู้ วันนี้เราจะผลิตเด็กไปสู่เด็กดีหรือว่าเด็กเก่ง  สังคมต้องตอบปัญหานี้ และโรงเรียนต่างๆ ก็ต้องคิดให้ได้ว่าต้องการจะสร้างเด็กแบบไหน และต้องปรับตัวอย่างไรในการบ่มเพาะเด็กในโรงเรียน สำหรับหลังสถานการณ์โควิด On-demand สามารถให้เด็กออกแบบเองได้หรือไม่ On-site ให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ มีโรงเรียนเป็นศูนย์เรียนรู้ ให้เด็กได้เรียนรู้ แบบ on the job training  
 
ข้อสรุปจากการเสวนาครั้งนี้ มีข้อเสนอที่น่าสนใจที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการจัดการศึกษา ด้านบุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียนหรือคุณครูก็ตาม ในยุควิถีชีวิตใหม่ ควรปรับบทบาทเป็นพี่เลี้ยงมากขึ้น ผู้อำนวยการเป็นพี่เลี้ยงให้ครู ครูเป็นพี่เลี้ยงให้นักเรียน และนักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกันกับผู้ปกครอง มุ่งเน้นการสร้างทักษะชีวิตบูรณาการหลักสูตรการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงมากขึ้น เน้นน้ำหนักการเรียนรู้มากกว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ไม่ติดกรอบตัวชี้วัด และในส่วนของผู้บริหาร ต้องได้รับการพัฒนาแนวคิดให้สามารถเป็นพี่เลี้ยงและคิดนอกกรอบ เป็น PLC ได้ โดยกระทรวงสนับสนุนด้านระบบที่จะอำนวยความสะดวกเรื่องเครื่องมือที่โรงเรียนจะนำไปใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอน ซึ่งอยู่ใน Website ที่เกี่ยวข้อง เช่น Website ครูพร้อม  และอยู่ใน Application ที่คุณครูสามารถเข้าไปเลือกใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสิ่งสำคัญที่จะพลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการปฏิรูปด้านการศึกษา คือ แนวทาง รูปแบบการปรับตัวที่เหมาะสมหลังสถานการณ์โควิด
 

เขียนข่าวและถ่ายภาพ : กลุ่มงานส่งเสริมคุณธรรมเครือข่ายทางสังคม