วันที่ 22 ธันวาคม 2564 ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จัดเสวนา ครอบครัวพลังบวก Live EP.4 "กลเม็ดคดีเด็ดในครอบครัว” เผยแพร่ผ่านทาง Facebook Live ศูนย์คุณธรรม Moral Center Thailand

 

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ เรามีประมาณ 20 ล้านครอบครัว ซึ่งปัจจุบันบริบทของครอบครัวก็มีโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม โดยเริ่มเห็นครอบครัวที่มีลักษณะเป็นนิวเคลียร์ แฟมิลี่ (Nuclear Family) หรือ ครอบครัวขนาดเล็กมากขึ้น ไปจนถึงครอบครัวที่มีลักษณะเป็น Home Alone ก็คือ เด็กใช้ชีวิตอยู่คนเดียว และในจำนวนนั้นทราบข้อมูลจาก UNICEF มีประมาณ 3 ล้านคน ที่เรียกว่า พ่อแม่มีชีวิตอยู่แท้ๆ แต่ไม่ได้เลี้ยงลูก กลายเป็นว่า เป็นครอบครัวแหว่งกลาง ครอบครัวหย่าร้าง มีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย และในจำนวนนั้นมีอยู่ประมาณ 5 - 6 แสนคน เป็นเด็กปฐมวัย อายุน้อยกว่า 6 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ต้องการพ่อแม่มากๆ แต่วันนี้นมีปัญหาเกิดขึ้น โดยข้อมูลจากสถานการณ์คุณธรรมสังคมไทย ปี 2564 จะเห็นว่า เกิดปัญหาในมิติสังคมภาพรวมมากขึ้น และเห็นได้ชัดเจนจากข่าวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พบว่า ครอบครัวใช้ความรุนแรงมากขึ้น และอีกหลายๆ เรื่องที่พ่อแม่ยังไม่เข้าใจทั้งเรื่องกฎหมาย รวมทั้งยังทำหน้าที่ได้มีสมบูรณ์พอ
.
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการปราบปรามทุจริตภาค 9 แบ่งปันถึงประเด็นความรุนแรงในครอบครัวว่า พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูก นอกจากนี้พ่อแม่ยุคปัจจุบันต้องปรับตัวให้เข้ากับเด็ก
รุ่นใหม่ เน้นความเข้าใจ อย่าใช้ความคาดหวังของคนรุ่นเก่าเข้าไปตีกรอบ จนลูกปิดบัง ลูกไม่พูด ลูกไม่มองว่าพ่อแม่สำคัญ ถ้าทุกคนเข้าใจวิถีชีวิตและบริบทในวันนี้ เราจะปรับตัวได้
.
คุณสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่า สังคมตอนนี้ อยู่ในยุคที่สภาวะครอบครัวหลายครอบครัวมีความเสี่ยง เคสต่างๆ ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากครอบครัวที่เลี้ยงลูกตามลำพัง เช่นเกิดขึ้นกับเด็กที่มีพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งขาดการประเมินสภาพ จึงส่งผลต่อภูมิคุ้มกันหรือต้นทุนชีวิตของเด็กเหล่านั้น โดยจากประสบการณ์ส่วนตัว มีโอกาสได้คุยกับน้องๆ อายุประมาณ 12 - 14 ปี ซึ่งเป็นผู้ประสบความรุนแรงทางเพศ พ่อแม่แยกทางกัน และอาศัยอยู่ในพื้นที่สีเทา (มีธุรกิจครอบครัวเป็นสถานอาบอบนวด) เด็กจะได้เรียนรู้การขายบริการอาบน้ำนวด เนื่องจากเขาเติบโตมากับสภาพแวดล้อมแบบนั้น ซึ่งอยากให้นึกตามว่า เด็กจะมีพฤติกรรมเลียนแบบหรือไม่? ในขณะที่พ่อและแม่ก็ไม่ได้ดูแลตลอดเวลา
จึงอยากสะท้อนให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากเด็กอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกชักนำ ชักจูง ให้เป็นฮีโร (แต่เป็นฮีโร่ในทางที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม) ก็อาจจะทำให้ก้าวพลาดได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่
.
ดร.มยุรี จำจรัส ผู้อำนวยการสำนักงานยุติธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แลกเปลี่ยนการทำงานในพื้นที่พบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวรูปแบบต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้องของพ่อแม่ฟ้องร้องบุตร
ที่บุตรไม่ดูแลหลังจากที่พ่อแม่ยกสมบัติให้ จนศาลพิพากษาเพิกถอนทรัพย์สมบัติ เนื่องจากประพฤติเนรคุณ ดังนั้นความรุนแรงในครอบครัวควรมีแนวทางการแก้ไขทั้งในระดับชาติ มุ่งเน้นการขับเคลื่อนนโยบายขับเคลื่อนเรื่องของสิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก สิทธิของสตรี ในระดับสังคมมุ่งเน้นการขับเคลื่อนระดับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน ในระดับจังหวัดควรมีการสร้างระบบพี่เลี้ยงชุมชน ใช้หลัก “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน เข้ามามีส่วนร่วม บูรณาการกับทางหน่วยงานภาครัฐ ส่วนในระดับครอบครัว คนในครอบครัวต้องสังเกตและขอความช่วยเหลือ เมื่อพบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
.
คุณกุสุมา พนอนุอุดมสุข ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวถึง ประเด็นความรุนแรงเกิดจากสถาบันครอบครัวยังไม่ได้ทำหน้าที่ ดูได้จากสถานการณ์ความรุนแรงในรอบ 6 ปี ที่ผ่านมา มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงกว่า 9,386 ราย เฉลี่ย 130 รายต่อเดือน เมื่อดูสถิติของ ปี 2564 พบ เพศหญิง 81% เป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรง ดังนั้น ทุกคนต้องช่วยเหลือกัน ภายใต้แนวคิด “ความรุนแรงภายในครอบครัว ไม่ใช่เรื่องภายในครอบครัว เราต้องช่วยกัน” เมื่อพบเหตุความรุนแรงในครอบครัวสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน 1300 หรือ ผู้มีจิตอาสา เช่น อพม. อสม. นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ www.เพื่อนครอบครัว.com สามารถให้คำปรึกษาทุกปัญหาที่เกี่ยวกับครอบครัว โดยจะเป็นการให้คำปรึกษาแบบส่วนตัว มีการรักษาความลับ
.
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กล่าวถึงประเด็น mentality health ว่าในทางกฎหมายเมื่อพ่อแม่ต้องรับผิดชอบเวลาลูกกระทำความผิด อาจต้องคำนึงประเด็น mentality health หรือเรียกว่า สุขภาพจิตบกพร่องของเด็กด้วย หากพ่อแม่พยายามเลี้ยงดูลูกอย่างดีแล้ว แต่ลูกมีปัญหาสุขภาพจิตบกพร่อง หรือเป็นเด็กเลี้ยงยาก ไม่สนใจ หรือมีลักษณะของ Antisocial Personality Disorder (พฤติกรรมเกเร)
ก็อาจจะยากสำหรับพ่อแม่ที่จะดูแลเด็ก รวมถึงต้องดูวิธีประพฤติปฏิบัติของพ่อแม่ ซึ่งจะแบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1.ไม่มีความรู้ไม่มีทักษะ 2.มีความรู้แต่ไม่มีทักษะ 3.มีทั้งความรู้ มีทักษะแต่ขี้เกียจเลี้ยงลูก ข้อนี้ต้องใช้กติกา 4.เสียโอกาสในการเลี้ยง และ 5.ไม่สมควรเป็นพ่อแม่ กลุ่มนี้ต้องเข้าไปจัดการ
.
ผศ.ดร.ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา มจร. กล่าวสรุปเป็นภาพรวมว่า ประเด็นความรุนแรงในครอบครัว ไม่ใช่หน้าที่ของผู้นำชุมชนเพียงอย่างเดียว แต่เราทุกคนต้องร่วมกันเป็นเจ้าภาพ เริ่มจากตัวเราหลังจากนั้นช่วยดูแลเพื่อนบ้าน คอยสังเกตและทำบทบาทของแต่ละคนให้เต็มที่
.
ติดตามชมการเสาวนาฉบับเต็ม ย้อนหลังได้ที่ Facebook เพจศูนย์คุณธรรม Moral Center Thailand

 


เขียนข่าวและถ่ายภาพ : กลุ่มงานสื่อสารและรณรงค์ทางสังคม