วันที่ 5–6 มีนาคม 2563 ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) โดยกลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมและระบบพฤติกรรมไทย จัดอบรมหลักสูตร “การจัดการความรู้สู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม” ณ ห้องประชุม Vista Ballroom 2 โรงแรมแกรนด์วิสต้า จังหวัดเชียงราย การจัดอบรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมศักยภาพบุคลากรให้เกิดการเรียนรู้ เกิดความเข้าใจ

เกิดทักษะของการจัดการความรู้ และสามารถนำความรู้ไปใช้ในการจัดการความรู้ในองค์กร รวมทั้งขยายผลไปสู่เครือข่าย

          การอบรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมจำนวน 29 คน จากองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม รวม 18 องค์กร โดยผู้เข้าร่วมได้รับฟังการบรรยาย ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และเทคนิคการจัดการความรู้กับคุณสุรีพันธุ์ เสนานุช วิทยากรด้านการจัดการความรู้และการถอดบทเรียน

          กระบวนการอบรมในครั้งนี้มี ประกอบไปด้วยการบรรยายเกี่ยวกับการจัดการความรู้และการถอดบทเรียน การยกกรณีศึกษาขององค์กรต่างๆ  การทดลองฝึกปฏิบัติ โดยกระบวนการจัดการความรู้มี 7 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1) การบ่งชี้ความรู้ 2) การสร้างและแสวงหาความรู้ 3) การจัดเก็บความรู้ให้เป็นระบบ 4) การประมวลและกลั่นกรองความรู้ 5) การเข้าถึงองค์ความรู้ 6) การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ และ 7) การเรียนรู้

          หัวใจสำคัญของการจัดการความรู้อยู่ที่เป้าหมายที่ต้องมีความชัดเจน เพื่อเลือกสรรความรู้ที่มีคุณค่ามาใช้ประโยชน์ เปรียบเหมือนการติดกระดุมเม็ดแรกที่เมื่อติดถูกแล้วกระบวนการต่อไปจะชัดเจน ซึ่งการจัดการความรู้ที่ดีต้องสกัดความรู้มาจากประสบการณ์ ทั้งจากเรื่องที่ประสบความสำเร็จและความผิดพลาด เพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน รวมถึงปรับปรุงพัฒนางานต่อไป

          ภายในงานครั้งนี้ คุณจิตรา สิทธนานุวัฒน์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ได้ให้เกียรติเข้าร่วมกิจกรรมและแลกเปลี่ยนถึงความพร้อมในการขับเคลื่อนจังหวัดเชียงรายสู่จังหวัดคุณธรรม ด้วยกลไกทั้งในระดับนโยบายที่เชื่อมโยงกับแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 และระดับปฏิบัติการที่เชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายหลากหลายภาคส่วน

          หลักสูตร “การจัดการความรู้สู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม  (KM for Social Change)” ศูนย์คุณธรรมกำหนดจัดอีก 4 ครั้ง ที่พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพฯ อุดรธานี และสุราษฎร์ธานี


 

เขียนข่าว: เปรมกมล สมใจ/ กลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมและระบบพฤติกรรมไทย

ถ่ายภาพ: เนตรนภา หนองแบก/กลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมและระบบพฤติกรรมไทย