1. กรอบแนวคิด
  2. ภาคเหนือ : จังหวัดกำแพงเพชร
  3. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดหนองคาย
  4. ภาคกลาง : จังหวัดระยอง
  5. ภาคใต้ : จังหวัดพังงา

๑. หลักการและเหตุผล

รัฐบาลโดยคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญของการขับเคลื่อนแผนแม่บท ส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๕๙–๒๕๖๕ และขยายผลต่อเนื่องในแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ ๒ พ.ศ.๒๕๖๖-๒๕๗๐ เพื่อให้หน่วยงาน องค์กรทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วมในการปลูกฝังส่งเสริมคุณธรรม สร้างค่านิยมและจิตสำนึกที่ดีนำไปสู่สังคมคุณธรรมที่เกื้อกูลและแบ่งปัน อันส่งผลให้ประเทศชาติ และประชาชนมีความมั่นคง สงบสุข ด้วยมิติทางศาสนา มั่งคั่ง เข้มแข็งด้วยวิถีวัฒนธรรมไทย และยั่งยืนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยุทธศาสตร์ของแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติฯ ที่เน้นการวางระบบรากฐานการเสริมสร้างคุณธรรม ในสังคมไทย โดยให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ และร่วมกันสร้างกระแสคุณธรรมพึงประสงค์ ๕ ประการ ได้แก่ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู


“สมัชชาคุณธรรม” ถือเป็นกระบวนการและเครื่องมือหนึ่งที่สนับสนุนการเชื่อมโยงองค์กร เครือข่ายทางสังคมทุกภาคส่วน โดยเป็นเวทีกลางในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมคุณธรรมเพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กำหนดทิศทาง และพัฒนานโยบายด้านคุณธรรม สนับสนุนการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ในระดับจังหวัด ภูมิภาค และระดับชาติ รวมถึงการสร้างกระแสรณรงค์ และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาปลุกจิตสำนึกด้านคุณธรรม และขยายผลการขับเคลื่อนงานตามประกาศเจตนารมณ์จากงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติสู่การปฏิบัติตามบริบทของแต่ละองค์กรและพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๕) ประกอบกับการจัดสมัชชาคุณธรรมใน ๔ ภูมิภาค มีข้อเสนอที่สำคัญว่า การขับเคลื่อนคุณธรรมในสังคมไทยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายและทำอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญต่อการส่งเสริมคุณธรรม ใช้หลักการระเบิดจากข้างใน มีการประกาศเรื่องคุณธรรมเป็นวาระจังหวัดในทุกจังหวัด


ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมคุณธรรม ได้เข้ามาช่วยเสริมหนุนการจัดกระบวนการส่งเสริมคุณธรรม รวมถึงนำเครื่องมือและองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนคุณธรรมให้แก่หน่วยงานทุกภาคส่วน โดยเลือกพื้นที่เป้าหมายในการจัดกระบวนการส่งเสริมและกรอบแนวคิด ภาคเหนือ : จังหวัดกำแพงเพชร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดหนองคาย ภาคกลาง : จังหวัดระยอง ภาคใต้ : จังหวัดพังงา
ขับเคลื่อนคุณธรรมเชิงพื้นที่ (จังหวัดคุณธรรมนำร่อง) ในระยะที่ผ่านมา ในปี ๒๕๕๘-๒๕๖๒ ได้ดำเนินการทดลองนำร่องขับเคลื่อนโครงการจังหวัดส่งเสริมคุณธรรม จำนวน ๖ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดพิจิตร จังหวัดราชบุรี จังหวัดพัทลุง จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดร้อยเอ็ด โดยนำองค์ความรู้โมเดลการขับเคลื่อนจังหวัดในรูปแบบต่าง ๆ มาพัฒนา ส่งเสริมการขับเคลื่อนผ่านกลุ่มเครือข่ายทางสังคม ๖ เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายองค์กรภาครัฐ เครือข่ายองค์กรภาคธุรกิจ เอกชน เครือข่ายองค์กรการศึกษาเด็กและเยาวชน เครือข่ายองค์กรทางศาสนาเครือข่ายองค์กรสื่อมวลชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม ชุมชน ครอบครัว แบบเข้มข้นและต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริม พัฒนาและการประเมินชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม ตามแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติฯ โดยใช้ “กระบวนการสมัชชาคุณธรรรม” ที่มุ่งเน้นสร้างการมีส่วนร่วมของทุกหน่วยงาน และการพัฒนาศักยภาพให้กับแกนนำ หน่วยงานองค์กรที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนผ่านการอบรม “วิทยากรส่งเสริมคุณธรรม” ให้สามารถเป็นตัวแทน แกนนำการส่งเสริมคุณธรรมในองค์กรและในพื้นที่จังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการส่งเสริมพัฒนา “งานวิจัยและการจัดการความรู้” ด้านการส่งเสริมคุณธรรมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมคุณธรรมตามบริบทของแต่ละเครือข่ายและขยายผลในพื้นที่ และผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนสู่การเป็นจังหวัดคุณธรรม ในระหว่างปี ๒๕๖๓ -๒๕๖๕ จนเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ใน ๔ ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง คือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภาคเหนือ คือ จังหวัดเชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ
จังหวัดอุดรธานี และภาคใต้ คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี


ในปีงบประมาณ ๒๕๖๖ ศูนย์คุณธรรม มีการขยายผลการขับเคลื่อนจังหวัดคุณธรรมร่วมกับจังหวัดที่สนใจและมีความพร้อมที่จะร่วมบูรณาการการทำงานด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนจังหวัดคุณธรรมอย่างต่อเนื่องในระยะ ๓ - ๕ ปี ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคเพิ่มขึ้น ๘ จังหวัด ครอบคลุม ๔ ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง :จังหวัดระยอง ภาคเหนือ : จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน และจังหวัดลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดหนองคาย ภาคใต้ : จังหวัดพังงา ซึ่งสอดคล้องตามแนวทางแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๗๐ ที่มุ่งเน้นการน้อมนำหลักธรรมทางศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และรักษาสืบสานวิถีชีวิตวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม และปฏิบัติตนตาม
คุณธรรมที่พึงประสงค์สำหรับสังคมไทย ๕ ประการ “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู” ซึ่งเป็นหลักคิดในการดำรงชีวิตและการพัฒนาคุณธรรมให้ปรากฏชัดเป็นรูปธรรมในสังคมไทย โดยมีแนวทางในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายและบรรลุตัวชี้วัดหลักของแผนปฏิบัติการฯ ได้กำหนดเป็น ๓ แผนย่อย คือ แผนย่อยที่ ๑ การส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมคุณธรรม/การทำความดีที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย แผนย่อยที่ ๒ การพัฒนาระบบและการเสริมสร้างขีดความสามารถของกลไกเพื่อการขับเคลื่อนและส่งเสริมคุณธรรม และแผนย่อยที่ ๓ การส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพคนและองค์กรเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณธรรม

 

การจัดสมัชชาคุณธรรมและตลาดนัดคุณธรรม นับเป็นกระบวนการที่สะท้อนให้เห็นถึงผลสำเร็จของการขับเคลื่อนคุณธรรมในพื้นที่ ระดับภูมิภาค ก่อให้เกิดการรวมตัวแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชม แชร์ เชียร์องค์กร/ชุมชน ต้นแบบ จากการขับเคลื่อนงานด้านคุณธรรมใน ๖ เครือข่ายทางสังคม เกิดองค์ความรู้การเชื่อมโยงองค์กรเครือข่ายทางสังคม ๖ เครือข่ายอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถเผยแพร่ขยายผลแก่จังหวัดอื่นได้ รวมถึงมีการประกาศยกย่องบุคคลผู้มีพฤติกรรมควรค่าแก่การยกย่อง และองค์กรต้นแบบด้านคุณธรรม และขยายผลสู่การปฏิบัติในวงกว้างต่อไป

 

๒. วัตถุประสงค์การจัดงาน

๒.๑ เพื่อเป็นเวทีกลางของหน่วยงาน องค์กร เครือข่ายทุกภาคส่วนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนและพัฒนาคุณธรรมในระดับองค์กร พื้นที่จังหวัด และระดับภูมิภาค
๒.๒ เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายและสนับสนุนกระบวนการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๗๐) และแผนยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวข้องด้านคุณธรรมสู่การปฏิบัติและนำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมาขององค์กรเครือข่าย
๒.๓ เพื่อบูรณาการการส่งเสริมคุณธรรมของหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมคุณธรรมของภาคีสมัชชาคุณธรรม
๒.๔ เพื่อส่งเสริมกระบวนการประกาศยกย่อง บุคคลผู้มีพฤติกรรมควรค่าแก่การยกย่อง และองค์กรต้นแบบด้านคุณธรรม รวมถึงถอดบทเรียนแนวคิดจากประสบการณ์ สู่ความสำเร็จ เพื่อการเผยแพร่ขยายผลต่อไปในวงกว้าง

 

๓. รูปแบบการจัดงาน

รูปแบบการจัดงานสมัชชาคุณธรรมและตลาดนัดคุณธรรม ผสมผสานระหว่างการจัดจริงในพื้นที่ และมีการแลกเปลี่ยนผ่านโปรแกรม ZOOM และการถ่ายทอดผ่านระบบออนไลน์ ทาง Facebook Live ตลอดการจัดงาน โดยแบ่งเป็น ๒ ส่วนหลัก ได้แก่

ส่วนที่ ๑ การจัดสมัชชาคุณธรรมในพื้นที่ห้องประชุม
ส่วนที่ ๒ การจัดพื้นที่นำเสนอผลงานกรณีตัวอย่าง ชุมชน องค์กร พื้นที่คุณธรรม “ตลาดนัดคุณธรรม” ชม
แชร์ เชียร์ ในพื้นที่จริง

 

๔. ขั้นตอนการขับเคลื่อนสมัชชาคุณธรรม

๔.๑ สร้างความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กร เครือข่ายทางสังคมภายในจังหวัด หารือและกำหนดแนวทางความร่วมมือการขับเคลื่อนคุณธรรม รูปแบบ เนื้อหาการจัดงาน และจัดตั้งกลไกคณะกรรมการจัดงานสมัชชาคุณธรรม
๔.๒ ประชุมสร้างความเข้าใจ วางแผน ออกแบบรูปแบบงาน และเตรียมการจัดงานสมัชชาคุณธรรมร่วมกับภาคีเครือข่ายในภูมิภาค
๔.๓ จัดเวทีเตรียมความพร้อมการจัดงานสมัชชาคุณธรรมและตลาดนัดคุณธรรม
๔.๔ ดำเนินการค้นหา คัดเลือกบุคคล/องค์กร ต้นแบบด้านคุณธรรมในพื้นที่ภูมิภาค เพื่อประกาศเกียรติคุณและจัดแสดงผลการดำเนินงาน ในงานสมัชชาคุณธรรมและตลาดนัดคุณธรรม
๔.๕ วิเคราะห์ผลการดำเนินการขับเคลื่อนงานส่งเสริมคุณธรรมตามประกาศเจตนารมณ์เพื่อเป็นข้อมูลนำเข้ากระบวนการสมัชชาคุณธรรมและตลาดนัดคุณธรรม
๔.๖ จัดเวทีสมัชชาคุณธรรมและตลาดนัดคุณธรรม แบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
๔.๗ ส่งเสริม สนับสนุนกระบวนการขับเคลื่อนติดตามมติประกาศเจตนารมณ์ของสมัชชาคุณธรรม สู่การปฏิบัติในระดับองค์กร จังหวัด ขยายผลยังภูมิภาคอย่างต่อเนื่องในปีต่อ ๆ ไป
๔.๘ การติดตาม ประเมินผล และถอดบทเรียนกรณีศึกษาที่เป็นต้นแบบด้านคุณธรรม สังเคราะห์ข้อมูลนำสู่เวทีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๓

 

๕. เป้าหมายการจัดงาน

๕.๑ เกิดการเชื่อมโยงองค์กร เครือข่ายคุณธรรม และบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน เชิงนโยบาย หน่วยงานสนับสนุน หน่วยปฏิบัติการทั้งในส่วนกลาง หน่วยงานในพื้นที่ ผ่านกระบวนการสมัชชาคุณธรรม
๕.๒ หน่วยงาน องค์กร ภาคส่วนต่าง ๆ สามารถขับเคลื่อนคุณธรรมที่สอดคล้องกับแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมของจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
๕.๓ ใช้ “กระบวนการสมัชชาคุณธรรม” เป็นเวทีกลางในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ประสบการณ์ กรณีศึกษาด้านการส่งเสริมคุณธรรมของหน่วยงาน องค์กร ภาคีเครือข่ายสมัชชาคุณธรรมอย่างกว้างขวางและสร้างการมีส่วนร่วมร่วมจากทุกภาคส่วน
๕.๔ มีองค์กรเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ และร่วมลงนามความร่วมมือการขับเคลื่อนสังคมคุณธรรม ในพื้นที่ และนำกรอบแนวทางการขับเคลื่อนสังคมคุณธรรมขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ๆ
๕.๕ นำเสนอผลการขับเคลื่อนจังหวัดคุณธรรม ต่อคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ได้รับทราบและนำผลการดำเนินงาน กรณีศึกษา องค์ความรู้ ข้อมูลแนวทางการขับเคลื่อนคุณธรรมจากการจัดสมัชชาคุณธรรมและตลาดนัดคุณธรรม ไปขยายผล/ผลักดันเป็นนโยบายสาธารณะด้านคุณธรรม

ภาคเหนือ : จังหวัดกำแพงเพชร

 

 

วันที่ ๓๐ - ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๖

ณ หอประชุมวัชร - นารี โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม จังหวัดกำแพงเพชร

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดหนองคาย

 

 

วันที่ ๒๓ - ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖

ณ หอประชุมประจักษศิลปาคม ศาลากลางจังหวัดหนองคาย อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย

ภาคกลาง : จังหวัดระยอง

 

 

วันที่ ๑๓ - ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๖

ณ ห้องสร้อยทอง ๑ - ๔ โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง

ภาคใต้: จังหวัดพังงา

 

 

วันที่ ๖-๗ กรกฎาคม ๒๕๖๖

ณ ห้องประชุมสระวังทอง โรงแรมเอราวัณพังงา (โคกกลอย) อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา

เมนู