วันที่ 4 สิงหาคม 2565 เวลา 13.00-16.30 น. ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จัดประชุมระดมความเห็นภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนสังคมคุณธรรมของเครือข่ายศาสนา เพื่อเตรียมความพร้อมสู่สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 12 โดยมีนายยงจิรายุ อุปเสน ผู้จัดการสำนักส่งเสริมและขับเคลื่อนเครือข่ายทางสังคม เป็นประธานการประชุมระดมความเห็น

 

มีนายประมวล บุญมา หัวหน้ากลุ่มงานสมัชชาคุณธรรมและความร่วมมือนานาชาติ นางสาวสุขุมาล มลิวัลย์ หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมเครือข่ายทางสังคมและเจ้าหน้าที่ศูนย์คุณธรรม พร้อมด้วยผู้นำทางศาสนา ผู้แทนองค์กรเครือข่ายคุณธรรมเข้าร่วมระดมความเห็น ณ ห้องประชุม 4 ชั้น 17 ศูนย์คุณธรรม และผ่านระบบออนไลน์ Zoom มีผู้เข้าร่วมเวทีจำนวน 75 คน

 

ในเวทีจัดให้มีกิจกรรมสานเสวนา โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้มีประสบการณ์ตรงในการขับเคลื่อนคุณธรรมเชิงพื้นที่ ได้แก่ พระครูปิยวรรณพิพัฒน์,ดร. เจ้าอาวาสวัดหัวฝาย จังหวัดเชียงราย ประธานเครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย, ผศ.ดร.แหวนทอง บุญคำ นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, นายประวีณ ประพฤติชอบ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการศึกษาและพัฒนามุสลิมอีสาน และอนุศาสนาจารย์ประพนธ์ ว่องวัฒนพรรณ รองประธานคณะกรรมการประสานงานคริสตจักรโปรเตสแตนต์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีผศ.ดร.ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา และทีมวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการและจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการส่งเสริมและขับเคลื่อนการพัฒนาคุณธรรมของศาสนิก


นายยงจิรายุ อุปเสน ผู้จัดการสำนักส่งเสริมและขับเคลื่อนเครือข่ายทางสังคม ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่าจากการดำเนินงานขับเคลื่อนส่งเสริมคุณธรรมของภาคีเครือข่าย ทำให้เกิดมติสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 11 เมื่อปี 2564 ซึ่งเป็นมติที่มาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ร่วมคิดร่วมทำโดยภายหลังการจัดงานได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบจนเกิดเป็นมติครม.เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ใน 4 เรื่อง ได้แก่

1.การสำรวจ รวบรวม เรียบเรียง ความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาสังคมด้วยคุณธรรมหรือนวัตกรรมความดีในช่วงวิกฤตโควิด-19 เพื่อนำมาสื่อสาร เผยแพร่ และรณรงค์สู่สังคมในวงกว้าง

2.การสนับสนุนส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาคน เครื่องมือ และกลไกของชุมชนให้มีระบบพี่เลี้ยงชุมชน

3. การสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างระบบเครดิตทางสังคม ให้เป็นเครื่องมือในการสร้างบรรทัดฐานของประเทศ

4. การสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ทางสังคมด้วยมิติความดี

 

มติครม.ดังกล่าวนับเป็นความสำเร็จที่ทุกองค์กร ทุกเครือข่ายต้องร่วมกันขับเคลื่อนต่อ โดยเรื่องที่ทำให้คนทุกองค์กรทุกภาคส่วนรวมพลังกันได้เป็นอย่างดีก็คือเรื่องความดี


ในเวทีการประชุมเห็นตรงกันว่า องค์กรทางศาสนาทุกศาสนาต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ขับเคลื่อนกิจกรรมไปด้วยกันด้วยความสมานฉันท์เชิงรุก มุ่งเน้นการมีส่วนร่วม นำหลักธรรมคำสอนมาสอดแทรก ทำให้คนดีรักษาความดีที่เริ่มจากหัวใจ เปิดพื้นที่จริงเพื่อการแบ่งปัน ผลิตสื่อน้ำดี สื่อสารเชิงบวกผ่านโซเชียลมีเดีย เป็นตัวอย่างที่ดีให้กลุ่มเด็กและเยาวชน แปรเปลี่ยนความต่างให้เป็นกัลยาณมิตร ชื่นชมความงดงามและความดีที่เครือข่ายทำ พร้อมส่งต่อสิ่งดีงามจากเครือข่ายศาสนาสู่ชุมชน เพื่อสร้างสังคมสันติสุขท่ามกลางสังคมพหุวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังเห็นว่าการอยู่รอดและอยู่ร่วมที่จะทำให้สังคมไทยเป็นสุขอย่างยั่งยืน ต้องทำให้ศาสนิกเข้าใจหลักศาสนาของตัวอย่างแท้จริง และเคารพศาสนาอื่นๆ องค์กรเครือข่ายทางศาสนาต้องผนึกกำลังเป็นภาคีความร่วมมือ ร่วมทุกข์ร่วมสุข สื่อสารอย่างมีพลัง โดยได้เสนอให้มีหน่วยงานกลางเป็นผู้ประสานเชื่อมโยง และขยายโมเดลความดีให้ครอบคลุมอย่างกว้างขวางต่อไป


ผลจากการระดมความเห็นและข้อเสนอจากเวทีในวันนี้ ทีมวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดลและฝ่ายเลขานุการจะรวบรวมและสังเคราะห์เป็นมติสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติครั้งที่ 12 และส่งมอบให้แก่คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติในงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติครั้งที่ 12 โดยมีกำหนดจัดงานในวันที่ 24-25 สิงหาคม 2565 ณ หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิด“Sustainability with Moral : อยู่รอด อยู่ร่วม สังคมไทยเป็นสุขอย่างยั่งยืน” ต่อไป

 


ภาพและข่าว : กลุ่มงานสมัชชาคุณธรรมและความร่วมมือนานาชาติ