พลังบวร การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน เป็นการนำเอาสถาบันหลักคือ บ้าน วัด โรงเรียน ในชุมชน มาเป็นกลไกในการพัฒนา และสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ด้วยเสาหลักที่ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต พร้อมทั้งสืบสานวิถีวัฒนธรรมชาติ และท้องถิ่น ให้ชนรุ่นหลังได้มีความเข้าใจในรากฐานสังคมของชาติไทยที่มีสืบมาอย่างยาวนาน
ด้วยแนวคิดนี้ ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักโครงการและจัดการความรู้ (OKMD) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี จึงได้จัดกิจกรรม “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 17 ” ณ โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการป่าสิริเจริญวรรษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชลบุรี สำหรับครู อาจารย์ ที่ได้รับการคัดเลือกจากทั่วประเทศ มาเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๙ จะช่วยสร้างพื้นฐานการดำรงชีวิตให้เกิดความมั่นคงและเติบโตอย่างยั่งยืนได้ รศ. นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ให้เกียรติเปิดงาน ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 17 ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมแสดงความยินดีที่องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันสร้างเครือข่าย ทำกิจกรรมพัฒนาสังคมด้วยหลักบวร นำไปสู่การปฏิบัติที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิติประจำวันจนเกิดเป็น “วิถีชีวิต” ซึ่งเป็นการวางรากฐานที่ดีให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย ส่งเสริมการมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมนางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บ.ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เพราะโลกหลังโควิด 19 ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ทุกคนต้องปรับตัว เพื่อฟื้นฟูตนเองและสังคมให้มีความแข็งแรงกลับสู่สมดุลและช่วยกันสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตเหมือนเดิม การนำเอาพลังบวร มาใช้ในการพัฒนาสังคม ด้วยภูมิปัญญาของคนไทย จะมีส่วนช่วยให้เกิดความมั่นคงได้อย่างยั่งยืน”
ครู อาจารย์ ผู้บริหารหน่วยงานเอกชน ที่เข้าร่วม กิจกรรม ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 17 จะได้ร่วมทำกิจกรรมการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม ที่ให้ความสำคัญในความเชื่อมโยงของ ชุมชน วัฒนธรรม ประเพณี การศึกษา อาทิ การมอบอุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาล การมีส่วนร่วมของโรงเรียนและเด็กนักเรียน การทำบุญปล่อยปลา การถอดรหัสศาสตร์พระราชาเพื่อความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และคุณธรรม 5 ประการ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู การเยี่ยมชม วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรมหาวิหาร สร้างโดยสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 ที่มีพระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์ เป็นการสร้าง
น้อมเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและราชวงศ์จักรี และพระพุทธปฏิมาประธานประจำอุโบสถ ได้รับการถวายพระนามว่า "สมเด็จพระพุทธญาณนเรศวร์" สร้างน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แสดงถึงความผูกพันอย่างแน่นแฟ้นระหว่างสถาบันพระพุทธศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่สืบเนื่องยาวนานนับพันปี นอกจากนี้ มีการทำกิจกรรม ณ โครงการป่าสิริเจริญวรรษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ การปั้นและโยน EM Ball เพื่อบำบัดรักษาแหล่งน้ำให้มีความสมบูรณ์ต่อการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์น้ำ เดินป่าศึกษาธรรมชาติ และการสร้างฝายละชะลอและเก็บกักน้ำ เพื่อประโยชน์ในการทำการเกษตรของชุมชนรอบๆ โครงการและใกล้เคียง
ด้าน ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า “ความไม่เหมือนเดิมของโลกใบนี้ ได้ช่วยตอกย้ำให้เราทุกคนได้ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงพระราชกรณีกิจนานับปการ เพื่อให้ราษฎรได้มีความเป็นอยู่อย่างผาสุก ดังนั้น การได้มาศึกษาลงพื้นที่เพื่อสร้างประสบการณ์ การปลูกป่าในใจคน และน้อมนำเอาศาสตร์พระราชา ไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป จะเป็นภูมิคุ้มกันให้เราทุกคนสามารถอยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์วิกฤติ และเติบโตได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเป็นการสนองตามพระปฐมบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ “เราจะสืบสาน รักษา ต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” พร้อมทิ้งท้ายว่า เราหลงลืมอะไรไปหรือเปล่า เราลืมไปแล้วว่า คนไทยโชคดีแค่ไหน ที่มีพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ และทรงรักคนไทยมากที่สุด ดร.ดนัยสรุปนอกจากการลงพื้นที่ร่วมกันทำกิจกรรมตามฐานต่างๆ แล้ว คณะครู อาจารย์ ยังเข้าร่วมการถอดบทเรียน โดย อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย ให้เกียรติเป็นวิทยากร จัดกิจกรรม Interactive Board Workshop ตามรอยนวัตกรรมศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล และ “The King's Journey: Learn English an Example of an Invention” ซึ่งคณะครูอาจารย์สามารถนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปต่อยอดการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนต่อไป
การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญของประเทศ “บวร” จึงเป็นหลักที่สอนให้คนรักษาความสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญ ช่วยให้คนไทยได้ตระหนักถึงคุณค่า และมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีความมั่นคงในวัฒนธรรมที่มีวิวัฒนาการต่อเนื่องยาวนาน โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมใจการสืบสานความเป็นไทย สำหรับกิจกรรม ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ในครั้งที่ 18 จะจัดขึ้นในวันเสาร์อาทิตย์ที่ 18-19 มิถุนายน 2565 ณ โครงการโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ จังหวัดสระแก้ว ถอดบทเรียน “คนสอนควาย ควายสอนคน” สักการะ หลวงพ่อโสธร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เมืองแปดริ้ว หน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจร่วมเรียนรู้นวัตกรรมศาสตร์พระราชา สามารถติดต่อได้ที่มูลนิธิธรรมดี เว็บไซต์ http://www.do-d-foundation.com แฟนเพจ: ตามรอยพระราชา-The King's Journey Facebook: มูลนิธิธรรมดี และ LINE Official: @dfoundation
ขอขอบคุณที่กรุณาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์แอนด์มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด
พิมพกานต์ ไชยสังข์ โทร. 065 392 6595
ภาณุวัฒน์ สาสนัส โทร. 084 953 8361