รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เข้าร่วมพิธีเปิดค่าย Thailand Super Camp “ไทยแลนด์ ซูปเปอร์ แคมป์” ภายใต้โครงการปิดเทอมสร้างสรรค์สร้างมายด์เซ็ทเด็กไทย 5.0 โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิธรรมดี ร่วมกับ องค์กรภาคีเครือข่าย อาทิ มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด และ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)
เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยให้เป็นผู้ตื่นรู้ ปลูกจิตสำนึกเยาวชนให้เตรียมพร้อมสู่ศตวรรษที่ 21 โดยมี ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี และประธานโครงการ “ไทยแลนด์ ซูปเปอร์ แคมป์” และ นายอิศวัชร์ ปิ่นทอง ผู้อำนวยการโครงการ “ไทยแลนด์ ซูปเปอร์ แคมป์” ร่วมพิธีเปิด พร้อมกล่าววัตถุประสงค์การจัดโครงการฯ เพื่อสร้างมายด์เซ็ทเด็กไทย 5.0 ด้วยกระบวนทัศน์ 5 ข้อ ได้แก่ พอเพียง มีวินัย สุจริต จิตอาสา และ รับผิดชอบ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2561 ณ ค่ายลูกเสือกรุงเทพวันวาน หนองจอก กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ รศ.นพ.สุริยเดว ได้กล่าวถึงกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาเยาวชนไทย 5.0 โดยให้แนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กและเยาวชนว่า กิจกรรมค่ายคุณธรรม 5.0 สำหรับเยาวชนครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เด็กและเยาวชนจะเข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิต ได้ใช้ความสามารถเพื่อพัฒนาตนเอง เปลี่ยนแปลงตนเอง ซึ่งทั้งหมดเป็นการเรียนรู้นอกตำราเรียน การเปลี่ยนแปลงตนเองที่ดีที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม กล่าวคือ การที่เด็กและเยาวชนสามารถนำกิจกรรมที่ได้เรียนรู้จากค่ายไปปรับใช้สม่ำเสมอในกิจวัตรประจำวัน จะสามารถหวังผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ ซึ่งการจะเรียนรู้ให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้นั้น มีการเรียนรู้อย่างน้อย 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1learning by study เรียนรู้ด้วยการพร่ำสอน ที่องจำจนขึ้นใจ แต่ระดับการเรียนรู้นี้ส่งผลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมในเด็กได้ไม่ถึง 30% ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นในการสอน ระดับที่ 2learning by doing เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ เป็นระดับการเรียนรู้ที่มีการลงมือทำ หวังผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ 50-60% ขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอในการปฏิบัติจนกลายเป็นกิจวัตร และ ระดับที่ 3learning by feeling เรียนรู้แบบซึมซาบ เป็นขั้นตอนการเรียนรู้แบบวิถีชีวิต วิถีแห่งระบบนิเวศน์ที่มีอานุภาพต่อเด็ก เห็นจนคุ้นชิน จนอยากปฏิบัติเพื่อให้เหมือนระบบนิเวศน์จนกลายเป็นพฤตินิสัย เป็นวิถีแห่งชีวิตที่จะถ่ายทอดสู่คนถัดไป การเรียนรู้ในระดับนี้หวังผลการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ถึง 80-90% และการถอดบทเรียนเพื่อนำมาสู่การพัฒนา กำลังใจ และการเข้าใจตนเองมากขึ้น ก็จะยิ่งเข้าใกล้ 100% เข้าไปเรื่อยๆ รศ.นพ.สุริยเดว กล่าว
ข่าวโดย นางสาววิชดา นฤวรพัฒน์
กลุ่มงานสื่อสารองค์กรและรณรงค์ทางสังคม
ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ๐ ๒๖๔๔ ๙๙๐๐ ต่อ ๓๑๓