เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2561 เวลา 9.30 น. ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) นำโดย นายประมวล บุญมา หัวหน้ากลุ่มงานสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติและสมัชชาคุณธรรม และนายบุญญานนท์ ศรีโท นักวิชาการส่งเสริมคุณธรรม เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์การส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทย ครั้งที่ 2/2561 ณ ห้องประชุมกรมการศาสนา ชั้น 2 กระทรวงวัฒนธรรม

          โดยมีนายอภินันท์ จันทรังษี ประธานคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์การส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทย เป็นประธานในที่ประชุม และมีคณะอนุกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนหน่วยงาน / องค์กรด้านการประชาสัมพันธ์ในประเทศไทย อาทิ ผู้แทนจากสื่อวิทยุ, โทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชุมหารือสรุปผลการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการสื่อสารคุณธรรมแห่งชาติ โดยมีนายวิทวัส ชัยปาณี นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย และทีมงาน นำเสนอแผนกลยุทธ์การสื่อสารและการรณรงค ์ “คุณธรรมแห่งชาติ” โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

                1. คนยังไม่รู้จักและเข้าใจเป็นที่ชัดเจนในคุณธรรมแห่งชาติ (พอเพียง / วินัย / สุจริต / จิตอาสา)
                2. การประชาสัมพันธ์ยังกระจัดกระจาย ไม่มีแนวคิดร่วม ไม่เป็นแคมเปญ ต่างคนต่างทำ
                3. ควรทำให้คนให้รู้จัก “คุณธรรมแห่งชาติ” นำเสนอให้รู้สึกเป็นเรื่องง่ายๆ ทำได้ไม่ต้องรอ ทำได้ตลอดเวลา ทำได้ทุกวัน
                4. กลุ่มเป้าหมายหลักที่จะสื่อสาร คือ GEN Y และ GEN Z
                5. สรุปการวิเคราะห์สถานการณ์การสื่อสาร พบว่า มีหลากหลายเนื้อหาและการตีความ, หลากหลายองค์กรกระจายกันพูด และหลากหลายระดับการเข้าถึง รับรู้และเข้าใจ
                6. เรื่องของคุณธรรมหลายคนเข้าใจยาก รู้สึกทำยาก จึงละเลยปล่อยให้เป็นเรื่องของคนอื่นแล้วกัน
                7. สรุปปัญหาที่เกิดขึ้น คือ 1) ขาดการจัดการแคมเปญการสื่อสารอย่างเป็นระบบ 2) เนื้อหาเกี่ยวกับคุณธรรมแต่ละข้อยากที่จะเข้าใจและนำไปปฏิบัติต่อ
                8. ควรมี IDEA ดีๆ แรงๆ และระดมปูพรมให้มีผู้คนเห็นและติดตาม
                9. เปลี่ยนความหลากหลายให้เป็น “ร่วมกัน” ร่วมกันพูด ร่วมกันแชร์ เข้าถึง รับรู้ เข้าใจ ทั้งประเทศ

          แผนกลยุทธ์ในการรณรงค์คุณธรรมแห่งชาติ (Communication Strategy)
                • ต้องเปลี่ยนให้เรื่อง “คุณธรรม” เข้าใจยาก+ทำยาก =ละเลย (ปล่อยให้เป็นเรื่องของคนอื่นแล้วกัน) เปลี่ยนเป็น เข้าใจง่าย+ทำได้ทุกวัน =เป็นเรื่องของฉัน
                • ต้องใช้ Social Media ให้เป็นประโยชน์ ทำให้คนรู้สึกว่า “ทำดีแล้วมีคนเห็น”
                • สร้างกระแสในคนรุ่นใหม่ให้ทำเรื่องคุณธรรมแล้วรู้สึกเท่ห์ เกิดภาพลักษณ์ที่ดี โดยให้เขาเป็นสื่อเอง ถ้าหากเข้าถึงกลุ่ม Net Idol หรือผู้ที่มีคนติดตามเยอะๆ ก็จะทำให้เกิดกระแสเป็นอย่างมาก
                • “SMALL & SIMPLE THINGS CAN MAKE A BIG DIFFERENCE” เริ่มจากกลุ่มพลังเล็กๆ กับเรื่องราวใกล้ตัวเขา ที่จะนาไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในทุกวัน
                • ประเทศไทย 4.0 ต้องขับเคลื่อนด้วยคนไทย 4.0 คนไทยรุ่นใหม่ขับเคลื่อนประเทศด้วยคุณธรรม
                • ต้องสร้างกระแสให้เป็นแฟชั่น ในระดับครอบครัว ชุมชน สังคม องค์กร / หน่วยงาน และประเทศ
                • สร้างแรงบันดาลใจจากเรื่องราว (ตัวอย่างเหตุการณ์) ที่อยู่รอบๆตัวเขา ในชีวิตประจำวัน
                • จัด ระเบียบอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างการจดจำที่ไม่กระจัดกระจาย ภายใต้ แนวคิดหลัก (Umbrella Idea) เดียวกัน กรณีตัวเอย่าง ตาวิเศษ พลังงานหาร 2 และอย่าให้ใครว่าไทย
                • ทำวันละนิด วันละหน่อย แต่ทำทุกวันจนเป็นนิสัย ประเทศไทยก็ดีขึ้นได้ไม่ยาก ตัวอย่างเช่น

                          • ลอง Mix เสื้อให้ Match กับกางเกง แฟชั่นแบบเรา ไม่ต้องซื้อใหม่บ่อยๆ ไม่เห็นต้องตามใคร = (พอเพียง : ประหยัดและเหลือเงินออม)
                          • ตื่นเช้าลุกขึ้นมาก็แค่หันกลับไปจัดเตียงให้เรียบร้อย = (วินัย : เริ่มต้นได้ทุกวัน ตั้งแต่ตื่นนอน)
                          • ถ้าร้านทอนเงินมาผิด ก็คืนเขาไปเถอะ (เดี๋ยวเขาจะเดือดร้อน) = (สุจริต : เริ่มซื่อสัตย์กับตัวเอง และคนอื่น)
                          •  จะข้ามถนนทั้งที ลองดูดีๆ มีใครอยากให้เราพาเดินไหม = (จิตอาสา : พาผู้พิการ เด็ก ผู้สูงอายุ ข้ามถนน)

          3 ขั้นตอนเพื่อเตรียมลงมือปฏิบัติการสำหรับการสื่อสารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
                1. Campaign Logo Design : ขั้นตอนการพัฒนาโลโก้ประจำแคมเปญ เพื่อสร้างการจดจำที่เป็นหนึ่งเดียว
                2. Campaign Execution (Treatment) : ขั้นตอนการพัฒนาโครงสร้างสปอตโฆษณา (TVC \ Online Short Film)
                3. Campaign (Media) Management : ขั้นตอนการจัดการสื่ออย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิการสื่อสารและการเข้า ถึงของแคมเปญด้วยการบริหารจัดการสื่ออย่างเป็นระบบ โดยแบ่งประเภทสื่อออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
                          • PAID : สื่อที่ต้องใช้ เงินซื้อส่วนมากเป็นสื่่อที่ได้รับความนิยม เป็นกระแส และสามารถเข้า ถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากได้
                          • OWNED : สื่อที่มีอยู่แล้วเป็นสื่อที่หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการมีอยู่แล้วในมือ
                          • EARNED : สื่อของกลุ่มเป้าหมายของเรา กับ การนำสปอตไปเผยแพร่ แชร์ต่อสู่สังคมรอบๆ ตัวเขา

          กลยุทธ์การวางสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
                •ใช้สื่อโทรทัศน์เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง ช่องที่กลุ่มเป้าหมายนิยมมากที่สุดประเภทรายการที่กลุ่มเป้าหมายนิยมบ่อยที่สุด และช่วงเวลาที่กลุ่มเป้าหมายบริโภคสื่อ
                • ใช้สื่อออนไลน์ โดยมุ่งเข้าไปยังกลุ่มเป้าหมายหลัก ประเภทสื่อที่กลุ่มเป้าหมายนิยมและน่าเชื่อถือมากที่สุด และเสริมด้วยสื่อรถไฟฟ้าและโรงภาพยนตร์
                • สร้างกระแสการรับรู้ในวงกว้าง ปล่อยหนังโฆษณาเพื่อสร้างกระแสและแรงจูงใจผ่านสื่อที่มีอิทธิพล เช่น Facebook YouTube ฯลฯ

          ข้อคิดเห็นจากศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)
               • หากมีการประชาสัมพันธ์และสื่อสารรณรงค์ไปแล้ว ควรมีการนำสู๋การปฏิบัติจริง โดยผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
               • ใช้ข้อมูลการส่งเสริมคุณธรรมทุนเดิมที่มีอยู่มาประกอบเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการสื่อสาร
               • ป้ายรณรงค์ที่ได้จัดทำไปแล้ว 20,000 กว่าป้ายทั่วประเทศ จะนำมาร้อยเรียง เพื่อสื่อสารไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
               • การรณรงค์ด้วยเพลง “คุณธรรม 4 ประการ” จะนำมาโปรโมทอีกช่องทางหนึ่งได้อย่างไร
               • นโยบายการส่งเสริมคุณธรรมจากกระทรวง องค์กร จังหวัด อำเภอ ชุมชน จะนำมาแปลงสู่การปฏิบัติด้วยได้อย่างไร
               • ต้องทำให้ประชาชนเห็นว่ามีพื้นที่ที่เป็นต้นแบบด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ทั้ง 4 ประการ ให้เขาได้รับรู้และเรียนรู้ เพื่อนำมาปฏิบัติจริง

          ข้อคิดเห็นอื่นๆ
                • “จากการรับรู้ สู่การเรียนรู้ และเป็นการปฏิบัติ ให้เป็นวิถีชีวิต”
                • “การสื่อสาร เป็นศาสตร์และศิลป์ ต้องตามให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง”
                • โลโก้หรือชื่อแคมเปญต้องใหญ่ ต้องแรง เรียกร้องความสนใจได้ แต่ต้องห้อยนามสกุล “คุณธรรมแห่งชาติ” พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา เพื่อให้คนจดจำได้มากที่สุด
                • การขับเคลื่อนหรือการของบประมาณจากรัฐบาล ต้องทำให้เห็นว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริงและเป็นวงกว้าง ยกตัวอย่าง เรื่องวินัย หากพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ทำผิดวินัยจราจร ต้องให้องค์กรช่วยกันขับเคลื่อนมีมาตรการเพื่อให้ลดการทำผิดวินัย เพราะฉะนั้นการรณรงค์ต้องจับต้องได้และมีประโยชน์
                • การจะทำสื่อรณรงค์ต้องให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นสิ่งสำคัญ
                • ยกตัวอย่าง CAMPAIGN UMBRELLA :
                          - “คุณ น่ะ ทำ”
                          - “คุณธรรมมได้”
                          - “คุณธรรม คุณทำได้”

          โดยข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์การส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทยครั้งนี้ จะนำไปพัฒนากลยุทธ์และรูปแบบการจัดทำการประชาสัมพันธ์รณรงค์คุณธรรมแห่งชาติ “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา” รวมทั้งการวางแผนค้นหาภาคีเครือข่ายร่วมดำเนินการและงบประมาณในการจัดทำโครงการฯ ต่อไป

 

01 02
   
03 04
   
05 06
   
07 08
   
09 10
   
11 12