วันที่ 29 มีนาคม 2565 ศูนย์คุณธรรม นำโดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม จัดเวทีวิชาการ โครงการครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง ครั้งที่ 3 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ องค์ความรู้ เผยแพร่รูปธรรมความสำเร็จของโครงการ และประชาสัมพันธ์โครงการวิจัย ชุดแผนงานครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง ให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในวงกว้างมากขึ้น

 

โดยมีผู้แทนหน่วยงาน องค์กรภาคีหลัก ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนหน่วยงานองค์กรทางวิชาการในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา, วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสุราษฎร์ธานี, สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคใต้ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดอุดรธานี และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุราษฎร์ธานี
.
ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ รณชัย คงสกนธ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการศูนย์คุณธรรม เป็นประธานเปิดงานพร้อมมทั้งกล่าวว่า สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันฐานรากของสังคมไทย และเป็นประเด็นปัญหาสำคัญของประเทศในปัจจุบัน โดยโครงการครอบครัวไทยไร้ความรุนแรงนี้ มีจุดเด่น 3 เรื่อง สำคัญ คือ 1) มีองค์ความรู้และชุดประสบการณ์ของผู้วิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเด็กและเยาวชน ที่ได้นำลงไปสู่การใช้จริงในพื้นที่ 2) มีการเปิดเวทีให้ความรู้เรื่องกฎหมายครอบครัวและสิทธิเด็ก เพื่อนำความคิดเห็น ข้อเสนอแนะแต่ละเวที มายื่นเสนอแก้ไขกฎหมายด้านครอบครัวและสิทธิเด็กที่บังคับใช้ในปัจจุบันให้ทันสมัย เอื้อประโยชน์ต่อครอบครัว เด็กและเยาวชนได้จริง 3) มีเป้าหมายเกิดระบบพี่เลี้ยงในชุมชน ที่ประกอบด้วย คนที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานครอบครัว ส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ในชุมชน และการแก้ปัญหาเด็กเยาวชนและครอบครัวในพื้นที่วิจัย
.
ภายในงานมีการจัดนิทรรศการโชว์ผลงานทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดอุดรธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ Family Talk โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญพูดคุยในหัวข้อ “เกมสมดุล ชีวิตสมดุล” โดย รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, “ความรุนแรงในครอบครัวกับการรื้อถอนมายาคติสังคม” โดย ผศ.ดร.ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา มจร. , “การสร้างวินัยเชิงบวก” โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล, “พลังบวกในการทำงานเพื่อสังคม” โดย ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ดารานักแสดง และผู้ก่อตั้งองค์กรทำดี, “ครอบครัวพลังบวก” โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม
.
ขณะที่ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ในฐานะ หัวหน้าชุดแผนงานโครงการวิจัย เรื่อง ชุดแผนงานครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง ได้สรุปผลสำเร็จโครงการฯ ซึ่งเห็นรูปธรรมชัดเจน คือ 1. ระบบพี่เลี้ยงในชุมชน เกิดแกนนำ/ครอบครัวพลังบวก 38 พื้นที่ จาก 13 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดอุดรธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็น 4 จังหวัดนำร่อง และจังหวัดกรุงเทพมหานคร จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพังงา จัวหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดขอนแก่น จังหวัดพะเยา จังหวัดเชียงใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 1,306 คน โดยแบ่งเป็น โครงการย่อยที่ 1 ครอบครัวพลังบวก จำนวน 16 พื้นที่ จำนวน 150 คน โครงการย่อยที่ 2 Healthy Gamer 8 พื้นที่ จำนวน 591 คน และโครงการย่อยที่ 3 แกนนำพี่เลี้ยงชุมชนพลังบวก 14 พื้นที่ จำนวน 565 คน
.
2. ด้านองค์ความรู้/เครื่องมือ ซึ่งได้สำรวจสถานการณ์ครอบครัว ในจังหวัดนำร่อง 4 จังหวัด ในหัวข้อต้นทุนชีวิต การเลี้ยงดูเชิงบวก แบบวัดโรคติดเกมอินเทอร์เน็ต (ฉบับย่อ) และแบบประเมินการสร้างวินัยเชิงลบ พร้อมทั้งเกิดหลักสูตรฝึกอบรม E-learning ค่ายครอบครัวพลังบวก (Scenario Based) หลักสูตรการอบรมผู้ปกครองเพื่อปรับพฤติกรรมเด็ก (Online group process) แบบวัดโรคติดเกมอินเทอร์เน็ต ฉบับย่อ (IGDS9-SF) แบบประเมินการสร้างวินัยเชิงลบ Line official account (HG Unit) ให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาติดเกมรวมถึงมีการเผยแพร่สู่สาธารณะ ผ่านเวทีวิชาการครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง 2 เวทีที่ผ่านมา การเสวนาประเด็นด้านเด็ก ครอบครัว ผ่านรายการครอบครัวพลังบวก Live จำนวน 4 ครั้ง การประกวดสื่อสร้างสรรค์ ยุติปัญหาความรุนแรงในครอบครัว นอกจากนี้ ยังได้ทำการรวบรวมข้อมูลโครงการเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ ตามสื่อออนไลน์ต่างๆ เช่น https://moralcenter.or.th/family/ , www.healthygamer.net , https://favp.net , Page Facebook ครอบครัวพลังบวกด้วยพี่เลี้ยงชุมชน เป็นต้น
.
ช่วงท้าย มีการมอบเกียรติบัตรให้กับชุมชนและหน่วยงานความร่วมมือ ผู้แทนหน่วยงานองค์กรพี่เลี้ยงในชุมชนและผู้แทนครอบครัวพลังบวก 38 พื้นที่ จาก 13 จังหวัด และภาคีเครือข่ายจาก 8 จังหวัด โดยการจัดเวทีวิชาการครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานรวมกว่า 150 คน

 


เขียนข่าว : กลุ่มงานสื่อสารและรณรงค์ทางสังคม