1 เมษายน 2565 รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ประชุมร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. โดยเป็นการแลกเปลี่ยนแนวคิดการให้ทุนสนับสนุนเด็กนักเรียนที่ กสศ.ดำเนินการ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. ให้ภาพรวมการทำงานของ กสศ.ว่าให้ทุนกับเด็กนักเรียนที่ฐานะยากจนได้ปีละประมาณ 3,000 ทุน

 

ซึ่งคิดเป็น 1% ของจำนวนเด็กที่มีฐานะยากจนทั้งหมดของประเทศ การดำเนินงานจึงเน้นการพัฒนาเพื่อสร้างต้นแบบใน 2 ส่วน คือ เด็กที่ได้รับทุนและสถานศึกษา โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนแบบองค์รวม การพัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์ (Socio-emotional skill) ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็น


คุณธันว์ธิดา วงศ์ประสงศ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมความร่วมมือนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. ยกตัวอย่างการเก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาเด็กและสถานศึกษาว่าเครื่องมือที่นำมาใช้คือ การสำรวจความผูกพัน (Engagement Survey) ระหว่างนักเรียน ครู ชุมชน และนำข้อมูลสะท้อนกลับกับสถานศึกษา โดยโจทย์ท้าทายของการทำงานตอนนี้คือ ระบบนิเวศแบบใดที่เอื้อให้เด็กประสบความสำเร็จ และการทำให้เด็กสามารถตั้งรับปรับตัว (Resilience) กับความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้


รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรต่อยอดแนวคิดตั้งรับปรับตัว (Resilience) ด้วยแนวคิด Adversarial Growth โดยมองว่าเป็นกระบวนการที่เด็กสามารถพัฒนาตนเองดีขึ้นตามโจทย์ท้าทายในแต่ละช่วงชีวิต โดยไม่ย้อนกลับไปจุดเดิม และในด้านเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาควบคู่กันไปคือ การสำรวจทุนชีวิต ซึ่งเป็นการสำรวจระบบนิเวศรอบตัวเด็ก โดยควรมีการดำเนินงานควบคู่กับการพัฒนากลไกพี่เลี้ยงชุมชน เพื่อดึงการมีส่วนร่วมจากภาคีภาคส่วนต่างๆ ทั้งในชุมชนและองค์กรต่างๆ เช่น องค์กรในด้านสาธารณสุข องค์กรด้านการศึกษา รวมทั้งได้เสนอให้ศูนย์คุณธรรมและ กสศ. ร่วมกันขับเคลื่อนงานร่วมกันภายใต้แนวคิด “คนดีมีพื้นที่ยืน ความดีมีพื้นที่ในสังคม” ซึ่งหลังจากการหารือในครั้งนี้ ทางศูนย์คุณธรรมและ กสศ.จะมีการประสานเพื่อนัดหารือวางแผนความร่วมมือกันต่อไป

 


ภาพและข่าว: กลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมและระบบพฤติกรรมไทย