ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จัดอบรมวิทยากรแกนนำการขับเคลื่อนคุณธรรมเชิงพื้นที่ จังหวัดคุณธรรม (กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ภายใต้โครงการสมัชชาคุณธรรม และแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2559 – 2565 โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นแกนนำเครือข่าย/คณะกรรมการ/คณะทำงานขับเคลื่อนจังหวัดคุณธรรม/กลไกคณะอนุกรรมการส่งเสริมจังหวัดคุณธรรม

 

จาก 11 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้รับเกียรติจาก นางกมนรัตน์ สิมมาคำ วัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น ให้การต้อนรับ และนายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดงาน ระหว่างวันที่ 17-18 มีนาคม 2565 ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
.
นางกมนรัตน์ สิมมาคำ วัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้ต้อนรับคณะผู้จัดงานและผู้เข้าอบรม ซึ่งจังหวัดขอนแก่น นอกจากมีภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางของภาคอีสานแล้ว ยังเป็น MICE City เมืองแห่งศูนย์กลางการประชุมสัมมนา และเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมด้านเศรษฐกิจที่สำคัญในระดับประเทศ ในฐานะเจ้าบ้านขอขอบคุณคณะผู้จัดที่เลือกจังหวัดขอนแก่นเป็นสถานที่จัดอบรมในครั้งนี้ และมีความยินดี พร้อมสนับสนุน การขับเคลื่อนงานด้านคุณธรรม โดยที่ผ่านมาก็ได้วางแผนปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมคุณธรรมในระดับจังหวัด และขับเคลื่อนงานชุมชนคุณธรรม ผ่านโครงการเที่ยวชุมชนยลวิถี ในหลายอำเภออย่างต่อเนื่อง
.
นายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ขอบคุณศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เป็นอย่างยิ่งที่เลือกจังหวัดขอนแก่นให้เป็นศูนย์กลางในการฝึกแกนนำวิทยากร 11 จังหวัดภาคอีสาน ในการเป็นทูตสืบสานเรื่องคุณธรรมที่จะไปให้ความรู้แก่พี่น้องจังหวัดต่างๆ สำหรับคำว่า “คุณธรรม” หลายคนมองว่าอาจเป็นเรื่องที่พูดกันลอยๆ จับต้องไม่ได้ แต่จริงๆ แล้ว เรื่องคุณธรรม จะช่วยสะท้อนถึงความเข้มแข็งที่มีปัจจัยเอื้อต่อการพัฒนาด้านต่างๆ โดยเฉพาะทุกวันนี้ เรามักถูกทดสอบด้วยวัตถุนิยม ทำให้คุณค่าของความเป็นคนถูกท้าทายด้วยค่านิยมซึ่งอาจส่งผลให้การกระทำบางอย่างบิดเบี้ยวไป วันนี้จึงถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี ที่วิทยากรแกนนำมีโอกาสได้เชิญชวน ปลุกเร้าพี่น้องชาวอีสานทั้ง 11 จังหวัดมาร่วมสร้างสังคม ปลูกฝังคุณธรรมอันโดดเด่นร่วมกัน ทั้งนี้จึงอยากเรียนเชิญพี่น้องชาวขอนแก่นทุกท่าน ได้มีส่วนที่จะมาร่วมขับเคลื่อนพัฒนาคุณธรรมให้กลับคืนสู่สังคมของเราอีกครั้ง และช่วยกันสร้างประเทศนี้ให้มีความเข้มแข็งด้านคุณธรรมต่อไป
.
ภายในงานวันแรก ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับฟังบรรยายทิศทางเชิงนโยบาย “ความคาดหวังการขับเคลื่อนและขยายผลจังหวัดส่งเสริมคุณธรรม” โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้ฉายภาพสถานการณ์คุณธรรมของสังคมไทย พร้อมทั้งยกตัวอย่างการขับเคลื่อนงานของศูนย์คุณธรรม ตามบทบาทภารกิจ โดยยึดหลัก HONEY BEE MODEL ด้วยหลักคิดที่ว่า ผึ้งจะไม่ตอมขยะ ผึ้งจะตอมแต่ความดี และนำความดีจากอีกที่หนึ่งไปโชว์ แชร์ เชื่อม จนออกมาในรูปแบบของสมัชชาคุณธรรม ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับภาค ระดับจังหวัด ไปจนถึงระดับชาติ พร้อมกับเชื่อมโยงกับระบบดิจิทัล ผ่านสื่อออนไลน์ทุกรูปแบบเพื่อขยายผลความดีออกสู่สาธารณะในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
.
ต่อด้วยการให้หลักคิด กระบวนการ และปัจจัยผลสำเร็จจากบทเรียนการขับเคลื่อนจังหวัดส่งเสริมคุณธรรมนำร่องในภาคตะวันเฉียงเหนือ โดย นายยงจิรายุ อุปเสน ผู้จัดการสำนักส่งเสริมและขับเคลื่อนเครือข่ายทางสังคม ได้ให้แนวทางและกระบวนการขับเคลื่อนแผนส่งเสริมจังหวัดคุณธรรม โดยมีแนวทางทั้งหมด 8 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จ คือ 1. ชวนกันก่อการดี (ทบทวนว่าใครบ้างที่เป็นหัวขบวนสำคัญที่ควรเชิญมาเป็นแนวร่วม/พันธมิตร) 2. ค้นหาความจริงของพื้นที่ (ทบทวนวัฒนธรรมต่อยอด/ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง)
3. เชื่อมโยงประสานพลัง 4. พัฒนากลไกขับเคลื่อน (จัดจั้งกลไกขับเคลื่อน) 5. ตั้งเป้าหมายคุณธรรมร่วมระดับจังหวัดรวมทั้งแนวทาง (ปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ อัตลักษณ์คุณธรรมร่วม) 6. ลงมือทำตามแผน 7. พัฒนาเพื่อความมั่นคงยั่งยืน (ต่อยอด โชว์ แชร์ เชื่อม) 8. สู่การขยายผล (เชื่อมเครือข่าย/สร้างแกนนำรุ่นใหม่/ขยายผลความรู้) ขณะเดียวกัน นายธีทัต พิมพา วัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานี ได้ร่วมแชร์บทบาทการสนับสนุนกลไกเครือข่ายภายในจังหวัดคุณธรรม ในฐานะที่อุดรธานีเป็นจังหวัดคุณธรรมนำร่องในภาคอีสาน ซึ่งการจะให้เป็นสังคมเมืองแห่งคุณธรรมนั้น ควรเน้นที่ผลลัพธ์และผลกระทบ ไม่เน้นกิจกรรม ทำให้มีความต่อเนื่องในเชิงนโยบายและปฏิบัติ ทั้งระดับผู้ว่าราชการจังหวัด และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และให้เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่
.
นอกจากนี้ผู้เข้าอบรมยังได้เรียนรู้ถึงเทคนิคการถอดบทเรียน/จับประเด็นสำคัญ จากการศึกษาเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ โดยนายอิทธิพร วันดี นักวิชาการอิสระ รวมทั้งรับฟังการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กรณีตัวอย่างการขับเคลื่อนคุณธรรมของเครือข่ายทางสังคม 3 กรณี ได้แก่ กรณีที่ 1 เครือข่ายภาครัฐ โดยนายอาทร ศรีเชียงสา สรรพากรภาค 10 จังหวัดอุดรธานี กรณีที่ 2 เครือข่ายภาคประชาสังคม/ชุมชนคุณธรรม โดยนายประดิษฐ์ พรหมเสนา คณะกรรมการขับเคลื่อนคุณธรรม จังหวัดศรีสะเกษ และกรณีที่ 3 เครือข่ายองค์กรธุรกิจส่งเสริมคุณธรรม โดย นายจรูญ ศิริสรณ์ กรรมการบริหารบริษัท ริกิการ์เม้นส์ จำกัด จังหวัดราชบุรี
.
ปิดท้ายกิจกรรมวันแรก ด้วยการแบ่งกลุ่มย่อยวิเคราะห์ต้นทุน/ความพร้อมการขับเคลื่อนตามกระบวนการขับเคลื่อนคุณธรรมของแต่ละจังหวัด และระดมความเห็นวางแผนเตรียมการ/แผนปฏิบัติการ เพื่อเตรียมความพร้อมขับเคลื่อนจังหวัดคุณธรรม ปี 2566
.
สำหรับกิจกรรมวันที่ 2 ผู้เข้าอบรมแต่ละกลุ่มจังหวัดได้นำเสนอผลจากการประชุมวางแผนปฏิบัติการที่ได้ร่วมระดมความเห็นกันในวันแรก ซึ่งแต่ละจังหวัดต่างแชร์แผนกิจกรรมตามบริบทของจังหวัดตนเอง และปิดท้ายด้วยพิธีมอบเกียรติบัตร ซึ่งมีแกนนำเข้ารับการอบรมครั้งนี้ รวมกว่า 64 คน
.
สำหรับแกนนำเครือข่ายทางสังคมที่เข้าร่วมอบรมทั้ง 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม สุรินทร์ นครพนม หนองคาย และขอนแก่น โดยการอบรมแกนนำฯ ภาคกลาง จะจัดขึ้นที่จังหวัดราชบุรี และภาคใต้ จัดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 นี้

 


เขียนข่าว/ถ่ายภาพ : กลุ่มงานสื่อสารและรณรงค์ทางสังคม