Accessibility Tools

วันที่ 8 ธันวาคม 2564 ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จัดเสวนา ครอบครัวพลังบวก Live EP.3 "Positive Parenting เลี้ยงลูกด้วยการสื่อสารพลังบวก” เผยแพร่ผ่านทาง Facebook Live ศูนย์คุณธรรม Moral Center Thailand

 

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิดจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจคำว่า “ครอบครัวพลังบวก” จึงได้หาจุดร่วมซึ่งมี 2 เรื่อง คือ ต้องทำให้เกิดระบบพี่เลี้ยงในชุมชนด้วยจิตวิทยาพลังบวก และจุดร่วมอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องของการสื่อสารพลังบวก เพราะการสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก เด็กโต ผู้ใหญ่ บางทีเผลอใช้การสื่อสารพลังลบ ซึ่งเป็นการใช้สมองส่วนอารมณ์ ไม่ได้ใช้สมองส่วนคิดชั้นสูง รอยด่างต่างๆ เหล่านี้ สามารถทำให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ภายในบ้าน พร้อมกับเน้นย้ำว่าความสัมพันธ์ภายในครอบครัวทุกวันนี้ต้องการ การ“จับถูก” มากกว่า “จับผิด” ให้ลองคิดเรื่องดีๆ ของลูก รู้จักให้กำลังใจ และอยากให้พ่อแม่หันมาเรียนรู้การสื่อสารพลังบวก เพราะจะเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดี ให้กลายเป็นพฤติกรรมที่ดี จึงฝากข้อคิดว่า "ศรัทธา ของคน ไม่เคยเกิดขึ้นบนสื่อสารพลังลบ"
.
ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร หรือ ครูหม่อม อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แบ่งปันถึงประเด็นเทคนิคการสื่อสารพลังบวกในครอบครัวที่มีลูกปฐมวัย ในวัยนี้จะต้องการความเชื่อใจจากพ่อแม่ ความมั่นคงปลอดภัย หรือฐานที่มั่นทางใจจากที่บ้าน ก่อนที่เขาจะสามารถเชื่อใจตัวเองได้ แล้วก็ออกไปเชื่อใจผู้อื่นได้ จึงมีเทคนิคที่สำคัญคือ “เมื่อไหร่ปลอบ เมื่อไหร่สอน” สามารถนำไปใช้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกวัน ทุกสถานการณ์ โดยหลักการดังกล่าวมักจะมี 2 สิ่งเกิดขึ้นเสมอ คือ
1. อารมณ์ (ของลูก ของนักเรียน ของคนที่เราพูดด้วย) 2. เนื้อหาของสถานการณ์ ว่าด้วยเรื่องถูกผิด ควรไม่ควร อยากให้พ่อแม่ “ไปที่อารมณ์ของลูกก่อนเสมอ” ก่อนที่จะไปเรื่องถูกผิด ควรไม่ควร เทคนิคนี้เรียกว่าการ “ปลอบก่อน สอนทีหลัง” เวลาปลอบให้แสดงความเข้าใจว่าเขาอยู่ในอารมณ์ไหน แล้วเขากำลังแสดงพฤติกรรมอะไร ตั้งเป้าหมาย ซึ่งไม่ใช่การสปอยล์ หรือจะทำให้เด็กเหลิง คุณพ่อคุณแม่ต้องดูจังหวะที่เหมาะสมด้วย
.
รศ.นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทุกคนมักชอบได้ยินได้ฟังอะไรที่ถูกหูถูกใจ แต่ปัญหาคือ คนมักสื่อสารไปในทางลบ ดังนั้น การมีการสื่อสารพลังบวกเป็นเป้าหมาย โดยเรียนรู้ ฝึกฝน รู้เนื้อรู้ตัว มีสติ จะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ หลักการง่ายๆ อะไรที่ไม่ดีเราต้องงดเว้น ยับยั้งชั่งใจตนเองแล้วสติจะเกิดขึ้น การสื่อสารเชิงลบเหมือนเป็นสิ่งที่บาดเจ็บ ส่งผลให้เกิดความกลัว ความเจ็บปวด และเป็นทุกข์ ดังนั้น การสื่อสารที่ทำให้เกิดความกลัวจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในบ้าน โรงเรียน สถานที่ทำงาน “บวกดีกว่าลบเสมอ สิ่งที่ลบๆ อย่าหาทำ !!” ในด้านเทคนิคการสื่อสารภายในองค์กร เทคนิคจะออกมาได้ใจต้องร่มๆ เก็บของให้เป็น และหมั่นตรวจสอบอารมณ์ของตนเอง เน้นหลักง่ายๆ คือ “ไม่ชอบอะไร ต้องไม่ทำอย่างนั้น” โดยต้องฝึกฝนให้รู้เท่าทันอารมณ์และความคิดของตนเอง และได้ให้เทคนิค STOP (S = Stop หยุดก่อน, T = breathe หายใจ สงบ, O=observe สังเกตใจตัวเอง, P=Process พอใจเย็น ค่อยเดินหน้าต่อไป) ดังนั้น เราควรหยุดให้เป็น
.
ผศ.ดร.ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา มจร. ผู้ดำเนินรายการ เสริมมุมมองของการสื่อสารพลังบวกว่า สัมพันธภาพมันเป็นวิถีชีวิต ดังนั้น เราจึงต้องตั้งเป้าหมายให้กับตนเองว่า เราทำอะไรไปบ้าง ต้องการจะทำอะไรต่อ โดยระหว่างตั้งเป้าหมายเราอาจต้องเริ่มจากการคิดดี ตลอดจนการสื่อสาร และการปฏิบัติตัวที่ดี เป็นประโยชน์กับตนเอง นอกจากนี้ต้องภาคภูมิใจที่เป็นพ่อแม่ ใส่ใจ และรักที่ลูกเป็น ซึ่งเทคนิคต่างๆ ที่ได้จากวิทยากรในวันนี้จะไม่มีความหมายเลย หากท่านไม่ลงมือทำ
.
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามชมการเสวนา ครอบครัวพลังบวก Live EP.3 "Positive Parenting เลี้ยงลูกด้วยการสื่อสารพลังบวก” ย้อนหลังได้ที่ Facebook เพจศูนย์คุณธรรม Moral Center Thailand https://www.facebook.com/MoralCenter/videos/5264073860287818
.
สำหรับการจัดเสวนา ครอบครัวพลังบวก Live ครั้งต่อไป EP.4 “กลเม็ดคดีเด็ดในครอบครัว” จะจัดขึ้นใน
วันพุธที่ 22 ธันวาคม 2564 เวลา 18.30 - 21.00 น. โดยสามารถติดตามรับชมได้ทาง Facebook Live เพจศูนย์คุณธรรม Moral Center Thailand


ขียนข่าวและบันทึกภาพ : กลุ่มงานส่งเสริมคุณธรรมเครือข่ายทางสังคม