Accessibility Tools

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จัดเสวนา ครอบครัวพลังบวก Live EP.2 "เกมสมดุล ครอบครัวสมดุล" ร่วมกับ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และนักกีฬา Esports

 

รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แลกเปลี่ยนมุมมองการเล่นเกมของเด็กว่า เกมเป็นสื่ออย่างหนึ่ง มีทั้งประโยชน์และผลทางลบต่อเด็ก ในทางการแพทย์ การติดเกมของเด็กนั้นไม่ได้ตัดสินที่จำนวนชั่วโมงการเล่น แต่ขึ้นอยู่กับหน้าที่ ความรับผิดชอบ และการควบคุมดูแลตัวเอง หากการเล่มเกมส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันของเด็ก ถึงจะเรียกว่าติดเกม ส่วนในประเด็นของ Esports เป็นอาชีพหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เด็กที่เล่นเกม ทั้งนี้การจะเป็นนักกีฬา Esports ต้องเล่นอย่างมีสติ บริหารจัดการเรื่องอื่นได้ และในภาคเอกชนเองควรให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนเพื่อให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง เด็ก มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจต่อการเป็นนักกีฬา Esports แล้วจะทำอย่างไรให้เด็กไม่ติดเกมนั้น พ่อแม่คือปัจจัยหลักที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกติดเกม ความใกล้ชิด ความผูกพันพื้นฐาน สัมพันธภาพที่ดี การสื่อสารเชิงบวกในครอบครัวนั้นเป็นเกราะป้องกันอย่างดี การสร้าง Self esteem (การเห็นคุณค่าในตนเอง) ให้ลูกเพื่อทำให้รู้ว่าเขามีอะไรดีที่เป็นสิ่งที่คู่ควรต่อการถูกรักบ้าง ส่วนวิธีการเล่นเกมให้สมดุล ครอบครัวสมดุล ให้มุ่งเน้นการป้องกัน 3 ด้าน ได้แก่ 1.เวลาคุณภาพในครอบครัว 2.ให้เด็กเห็นว่ามีสิ่งอื่นน่าสนใจเท่ากับหรือมากกว่าเกม 3.ควบคุม ลดโอกาสการเข้าถึงเกมของเด็ก


.
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ได้กล่าวฝากถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนา Esports ให้นำเสนอมุมมองที่รอบด้าน และขอฝากถึงผู้ปกครองว่าการที่เราส่งเสริมให้เด็กเล่นเกมมากจนเกินไป เปรียบเสมือนเป็นการพัฒนาให้เด็กกลายเป็นหุ่นยนต์ เราในฐานะผู้ใหญ่จึงควรมาช่วยเติมเต็มเด็ก อย่าให้เกมเป็นส่วนในการเติมเต็ม นอกจากนี้ เราสามารถสนับสนุนให้เด็กเป็นนักกีฬา Esports ได้แต่ต้องมี Soft skills รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย และมีพัฒนาการด้านสังคม จิตใจ และอารมณ์ ในนามของศูนย์คุณธรรมขอขอบคุณภาคีทุกภาคส่วนและสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่สนับสนุนทุนเพื่อทำการวิจัยโครงการวิจัยเรื่อง ชุดแผนงานครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง เพื่อให้เกิดครอบครัวพลังบวกไร้ความรุนแรง


.
ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และในฐานะคุณแม่มีมุมมองการเล่มเกมของเด็กว่า “เกม” ถูกออกแบบมาให้ “ติด” ประกอบกับสามารถตอบโจทย์ให้กับเด็กได้หลายอย่าง เช่น การได้รับรับคำชม เกิดรายได้ มีกลุ่มเพื่อน และในฐานะพ่อแม่ รู้สึกเป็นห่วง ประกอบกับอยากให้มีข้อมูล ข้อเท็จจริงที่พ่อแม่เข้าถึงได้และมีการรณรงค์ในระดับนโยบายที่ชัดเจนในการเป็นนักกีฬา Esports ส่วนประเด็นของการเล่นโทรศัพท์/เกม พ่อแม่ก็ควรเป็นตัวอย่างการใช้โทรศัพท์ให้ลูก เรื่องของ Esports มองว่า แม้จะมีข้อดี แต่เด็กต้องแลกมาด้วยอาการปวดเกร็งตามร่างกาย และอาจส่งผลกระทบในการดำเนินชีวิต ส่วนวิธีการไม่ให้ลูกติดเกม ด้วยประสบการณ์ส่วนตัวอาจต้องเริ่มจากการรับฟังความต้องการของลูก มีกติกาที่ชัดเจน กำหนดบทลงโทษร่วมกัน เมื่อลูกไม่ทำตามกติก สุดท้ายฝากถึงพ่อแม่ให้เปิดใจรับฟังลูกมากกว่าสอน และจะมองเห็นนาทีทองในการพูดคุยกับลูก


.
นายฉัตรกาญจน์ ปาริฉัตต์กุล นักกีฬา Esports มองว่าการที่เด็กติดเกม อาจสืบเนื่องมาจากที่บ้านไม่มีเวลาในการดูแล ไม่มีเพื่อน การเล่นเกมจึงทำให้เด็กรู้สึกมีตัวตน รู้สึกเก่งกว่าในชีวิตจริง นอกจากนี้ยังแชร์ประสบการณ์ส่วนตัว ว่าก่อนนี้เคยติดเกม ไม่สามารถบริหารจัดการเวลาได้ ส่งผลให้การเรียนแย่ลง แต่เริ่มดีขึ้นหลังจากจบมหาวิทยาลัย เนื่องจากตระหนักถึงความสำคัญของการรับผิดชอบดูแลเลี้ยงชีพตนเองและพ่อแม่ ซึ่งพอเริ่มเป็นนักกีฬา Esports จากการเล่นแล้วได้อันดับต้นๆ ของเกม จนเป็นที่รู้จักและสนใจ จึงได้รับการชักชวนให้เข้าแข่งขัน และเข้าสโมสรเป็นนักกีฬาเต็มตัว เกิดเป็นรายได้ ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่า นักกีฬา Esports เป็นอาชีพที่ได้เงินไว ฉาบฉวย ไม่ยั่งยืน เนื่องจากยิ่งอายุมากขึ้นการตอบสนองของเราจะช้าลง พร้อมทั้งยังฝากถึงเด็กที่สนใจอยากเป็นนักกีฬา Esports มีเด็กที่เล่นเกมไม่ถึง 1% ที่มีโอกาสได้เป็นนักกีฬา Esports หากอยากเป็นจริงๆ พ่อแม่ควรส่งเสริมให้เด็กรู้จักอาชีพอื่นๆ ร่วมด้วย และอยากฝากถึงเด็กๆ ว่าให้เราเล่นเกม อย่าให้เกมเล่นเรา
.


อ.นพ.สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ดำเนินรายการได้ให้มุมมองการดูแลเด็กติดเกมว่าไม่มีคุณหมอคนไหนมี magic word ที่จะทำให้ทุกอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบที่ดีดนิ้วปุ๊บแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลง และไม่มียาไหนรักษา ที่กินแล้วหายติดเกม พ่อแม่คือคนสำคัญที่จะเป็นภูมิคุ้มกัน เป็นวัคซีนให้ลูก


.
สำหรับการจัดเสวนา ครอบครัวพลังบวก Live ครั้งต่อไป EP.3 "การสื่อสารเชิงบวก" วันพุธที่ 8 ธันวาคม 2564 เวลา 18.30 – 21.00 น. โดยสามารถติดตามรับชมได้ทาง Facebook Live เพจศูนย์คุณธรรม Moral Center Thailand

 


เขียนข่าวและภาพ : กลุ่มงานส่งเสริมคุณธรรมเครือข่ายทางสังคม