วันที่ 13 ตุลาคม 2564 เวลา 15.00 - 17.00 น. ศูนย์คุณธรรม ร่วมกับ นักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร จัดเสวนานวัตกรรมการจัดการศึกษาในช่วงวิกฤตโควิดด้วยพลังบวก ครั้งที่ 3 ประเด็น “on-site on-air online on-demand on-hand สอนยังไงให้ปัง” ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ

 

ได้แก่

1) รองศาสตราจารย์ ดร.ประกอบ กรณีกิจ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2) อาจารย์ธมลวรรณ สุดใจ โรงเรียนนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช

3) อาจารย์ศรัณย์ญุตา กุศลส่ง โรงเรียนมหาภาพกระจาดทองอุปถัมภ์ จังหวัดสมุทรปราการ และ

4) รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สืบวงศ์ กาฬวงศ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ รวมทั้งมีผู้อำนวยการ ครู จากโรงเรียนเครือข่ายของศูนย์คุณธรรมทั่วประเทศร่วมรับฟังแลกเปลี่ยนในครั้งนี้จำนวนกว่า 120 คน
.
รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวถึงการจัดการศึกษาในยุคปัจจุบัน ต้องปรับเพิ่มจาก Active learning สู่ Active citizens เพื่อฝึกให้เด็กและเยาวชนมีทักษะในศตวรรษที่ 21 เป็นคนเก่ง คนดี มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม จึงให้ความสำคัญในการเตรียมคนของภาคการศึกษาด้วยเช่นกัน ทำอย่างไรที่จะใช้สันติวิธีและวิธีการทางสติมาช่วยควบคุมอารมณ์ได้ หนังสือเป็นสื่ออีกรูปแบบที่สามารถสะท้อนความรุนแรงได้ด้วยเช่นกัน เด็กที่เติบโตไม่ว่าจะอยู่ในการบ่มเพาะให้มองโลกในแง่ลบ หรือแง่บวกก็ตาม ปรากฎการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับเด็กต่อไปเป็นสิ่งที่น่าห่วง เพราะก่อนที่เด็กจะเติบโตต้องผ่านช่วงชั้นปฐมวัยซึ่งยังไม่สามารถแยกแยะพฤติกรรมที่ดีหรือไม่ดี ดังนั้น การบ่มเพาะจึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะเด็กจะต้องเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในสังคม หากพลเมืองของเราขาดคุณธรรมจริยธรรม โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงขึ้นในสังคมเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะคาดเดาได้ จึงฝากคุณครูทุกท่าน ทำอย่างไรให้เด็กมีคุณธรรม คิดบวก เคารพคนอื่น การบลูลี่กันในโรงเรียน มีคุณธรรมในหัวใจ และสร้างเด็กให้เป็นคนดีตามพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9
.
อาจารย์ธมลวรรณ สุดใจ โรงเรียนนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวถึงเทคนิคการสอนออนไลน์สำคัญที่สุด คือ ครูจะต้องตั้งเป้าการสอนให้เด็ก ๆ มีความสุข ความท้าทายของการสอน คือต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอน อุปกรณ์ในการสอนหรืออุปกรณ์การแต่งกายในการสอนเด็ก ๆ จะทำให้เด็กเกิดทัศนคติที่ดีในการเรียนการสอนมากขึ้น ซึ่งนอกจากเด็กจะสนใจแล้ว ผู้ปกครองก็ยังสนใจอีกด้วย
อาจารย์ศรัณย์ญุตา กุศลส่ง โรงเรียนมหาภาพกระจาดทองอุปถัมภ์ จังหวัดสมุทรปราการ แลกเปลี่ยนการเตรียมตัวสอนวิชานาฎศิลป์แบบออนไลน์ ว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ปรับ Mindset ของครูก่อน มีการลองผิดลองถูกจากเสียงสะท้อนของเด็ก นำเสียงสะท้อนมาปรับรูปแบบการสอน โดยเน้นครูผู้สอนเป็นหลัก จะทำอย่างไรให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก เช่น การสอนสดผ่านออนไลน์ การสอนผ่านคลิปวิดีโอ ร่วมหาทางออกให้เด็ก ๆ ในกรณีที่เข้าระบบ Zoom ไม่สะดวก เช่น เปลี่ยนช่องทางการสื่อสารผ่านระบบ Zoom เป็น Line และทำอย่างไรให้ครูเห็นเด็กและเด็กเห็นครู
.
รองศาสตราจารย์ ดร.ประกอบ กรณีกิจ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบการเรียนการสอน ระบบออนไลน์ ให้ความเห็นว่า การสอนออนไลน์ ผู้สอนต้องมีการปรับตัวก่อน และต้องวิเคราะห์ผู้เรียน โรงเรียนควรมีช่องทางการเรียนการสอนให้เด็กที่หลากหลาย เนื่องจากเด็กบางคนก็ไม่มีอุปกรณ์ที่สามารถรองรับช่องทางเดียวกับผู้สอนได้ ทุกวันนี้ทุกห้องเรียนมีเด็กที่ตกหล่นเนื่องจากอุปกรณ์ไม่พร้อม เรื่องอุปกรณ์เราต้องมองเรื่องนี้เป็นเกมส์ยาว อาจจะต้องเปิด ๆ ปิด ๆ ซึ่งในเชิงนโยบายรัฐบาลควรมองเห็นปัญหานี้และช่วยเหลือเรื่องอุปกรณ์การเรียนการสอนและสัญญาณอินเทอร์เน็ต
ที่เพียงพอ ไม่มองการจัดสรรแบบหารเท่า มองความจำเป็นและการเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณภาพมีประสิทธิภาพมากที่สุด เปลี่ยนมุมมองในการสนับสนุนการเรียนออนไลน์ ต้องติดอาวุธหรือสนับสนุนเครื่องมือที่เหมาะสมให้เด็กและคุณครูเพื่อให้เกิดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในสถานการณ์ที่จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบทั้งผู้เรียนและผู้สอนซึ่งนโยบายการสนับสนุนก็ต้องเท่าทันการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน
.
เวทีวันนี้เป็นการนำเสนอแนวคิด ทัศนคติ รูปแบบ เครื่องมือ เพื่อให้ครู และบุคลากรทางการศึกษาได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับวิทยากรที่สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ในการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในช่วงสถานการณ์โควิดผ่านรูปแบบต่าง ๆ อย่างน่าสนใจและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนของสอนของแต่ละโรงเรียนที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนกันต่อไป


ข่าวโดย กลุ่มงานส่งเสริมคุณธรรมเครือข่ายทางสังคม ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)