Accessibility Tools

วันที่ 3 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00 น. ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเครือข่ายประชาสังคมคุณธรรมจังหวัดเชียงราย จัดเวทีถอดบทเรียนความสำเร็จการขับเคลื่อนคุณธรรมของเครือข่ายทางสังคมในพื้นที่จังหวัดเชียงราย กรณีเครือข่ายประชาสังคม ผ่านระบบแอพพลิเคชั่น Zoom

 

โดยมี พระครูปิยวรรณพิพัฒน์ ประธานเครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุจังหวัดเชียงราย ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนสังคมคุณธรรมเครือข่ายประชาสังคมคุณธรรมเป็นประธานการประชุม โดยได้รับเกียรติจาก นายสนั่น เนตรสุวรรณ ประธานสภาหมอเมืองล้านนา นายกิตติ ทิศสกุล ที่ปรึกษาคณะทำงาน ผศ.ปรีดา จันทร์แจ่มศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ผศ.ดร.เด่นศักดิ์ สุริยะ ประธานศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้าเชียงราย ผู้ก่อตั้งชมรมคนดีศรีเชียงราย นางสาวอรนุช ชัยชาญ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย นายวีรศักดิ์ กิตะพาณิชย์ กรรมการบริหารไร่รื่นรมย์ นางสาวสมถวิล เอี่ยมโก๋ เลขาธิการมูลนิธิจิตอาสา นางสาวทัศนีย์ ดอนเนตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มกิจการพิเศษ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยผู้บริหาร ผู้แทนเครือข่ายประชาสังคมคุณธรรมจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมประชุม จำนวน 32 คน โดยนางสาวจีระวรรณ์ บรรเทาทุกข์ นักวิชาการส่งเสริมคุณธรรม กลุ่มงานสมัชชาคุณธรรมและความร่วมมือนานาชาติ เป็นผู้แทนศูนย์คุณธรรม เพื่อถอดบทเรียนความสำเร็จการขับเคลื่อนคุณธรรมของเครือข่ายทางสังคมในพื้นที่จังหวัดเชียงราย กรณีเครือข่ายประชาสังคม ภายใต้โครงการสมัชชาคุณธรรมและแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2559-2565)

จากบทเรียนความสำเร็จของเครือข่ายประชาสังคมคุณธรรมจังหวัดเชียงราย ได้สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ เกิดโมเดลตัวอย่างที่โดดเด่น เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน กลุ่มเครือข่ายเข้มแข็ง เป็นการจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจ เกิดการขยายผลไปยังกลุ่มเครือข่ายอื่นในพื้นที่จังหวัดเชียงราย อันนำไปสู่การเป็นจังหวัดคุณธรรมต้นแบบอย่างเป็นรูปธรรม จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดที่มีต้นทุนคุณธรรมสูงอย่างมาก พบว่ามีหน่วยงานภาคประชาสังคมกว่า 200 องค์กรในจังหวัดที่มีจิตอาสา พร้อมร่วมมือส่งเสริมและขับเคลื่อนงานเพื่อสังคมเป็นอย่างดี และมีโครงการที่เป็นต้นแบบความสำเร็จจำนวนมาก อาทิ เครือข่ายโรงเรียนผู้สูงอายุจังหวัดเชียงราย ซึ่งส่งเสริมกิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุและชุมชนเพื่อให้มีความรู้เท่าทันโลกเท่าทันการเปลี่ยนแปลง มีรายได้ พึ่งตนเองได้ และสามารถช่วยเหลือสังคมได้ มีชมรมคนดีศรีเชียงราย ที่มีการจัดกิจกรรมมอบรางวัลคนดีศรีเชียงรายเพื่อส่งเสริมให้เชียงรายเป็นเมืองแห่งคนดี

จากเวทีถอดบทเรียน พบว่า เครือข่ายประชาสังคมมีแนวทางความดีที่อยากทำร่วมกัน ได้แก่ การขับเคลื่อนงานคุณธรรมด้วยนวัตกรรมคุณธรรม อาทิ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การป้องกันภัยพิบัติ ไฟป่าหมอกควัน การขับขี่บนท้องถนนด้วยความมีวินัยและน้ำใจ พร้อมจัดกิจกรรมเชิงรุก อาทิ อบรมหลักสูตรวิทยากรคุณธรรม, ค่ายเด็กและเยาวชน, พัฒนาศักยภาพและสร้างบุคลิกภาพให้แก่คนในชุมชน และดำเนินกิจกรรมยกย่องส่งเสริมคนทำดี ขยายเครือข่ายผู้ร่วมอุดมการณ์ส่งเสริมคุณธรรมอย่างต่อเนื่องทุกพื้นที่ให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด รวมถึงจัดทำและขับเคลื่อนธรรมนูญคุณธรรมตามเจตนารมณ์ค่านิยมคุณธรรม 4 ประการ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา โดยมีกลไกคณะทำงานเครือข่ายประชาสังคมคุณธรรม และแกนนำวิทยากรส่งเสริมคุณธรรม ผู้นำองค์กรของภาคประชาสังคมในการร่วมขับเคลื่อน คณะทำงานเครือข่ายประชาสังคม เน้นย้ำโมเดล 6 ส. ได้แก่ สำรวจ ส่งเสริม สนับสนุน สร้างเครือข่าย สานพลังสามัคคี สื่อสารผลสำเร็จ และ 4 ย. คือ ย้ำ ยก โยง ขยาย เพื่อให้ทุกองค์กรร่วมสำรวจประเมินตนเอง สานพลังความสามัคคีให้เกิดขึ้น เชื่อมโยงเพื่อเสริมพลังกัน พร้อมสื่อสารร่วมแรงร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน และต้องเดินหน้าต่อไปให้งานภาคประชาสังคมสามารถขยายความดีครอบคลุมทั้งเมืองเชียงรายได้อย่างแท้จริง


ภาพและข่าวโดย กลุ่มงานสมัชชาคุณธรรมและความร่วมมือนานาชาติ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)