เครือข่ายการศึกษา ร่วมแลกเปลี่ยนหาทางออกการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ยุคโควิด พบเด็ก-ผู้ปกครองเครียด นักวิชาการแนะควรสำรวจความพร้อม ปรับรูปแบบการสอนให้เข้ากับบริบทแต่ละบ้าน ลดเวลาเรียน-การบ้าน เพิ่มคะแนนการมีส่วนร่วมและกิจกรรมนอกห้องเรียน ครูเสริมทักษะด้านเทคโนโลยี เสริมการสอนให้น่าสนใจ โรงเรียนเปลี่ยนบทบาทใหม่ เป็น Center for Home School
วันที่ 29 กันยายน 2564 ศูนย์คุณธรรม ร่วมกับ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร จัดเวทีเสวนานวัตกรรมการจัดการศึกษาในช่วงวิกฤตโควิดด้วยพลังบวก ครั้งที่ 1 ประเด็น “สารพันความท้าทายและทางออกเมื่อคุณครูต้องสอน online” ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ธนัทณัฏฐ์ ฉัตรภัครัตน์ สำนักเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, คุณธีรกานต์ หอมประคำ คุณครูโรงเรียนสายปัญญารังสิต, คุณสุเนตร จันทร์สว่าง โรงเรียนสามร้อยยอดวิทยาคม โดยมี ผศ.ดร.สืบวงศ์ กาฬวงศ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ รวมทั้งมีบุคลากรจากโรงเรียนเครือข่ายของศูนย์คุณธรรมทั่วประเทศสนใจร่วมรับฟังแลกเปลี่ยนกว่า 180 คน
.
คุณธีรกานต์ หอมประคำ คุณครูโรงเรียนสายปัญญารังสิต กล่าวว่า จากการสำรวจปัญหา สิ่งที่ผู้ปกครองกังวลกับการเรียนออนไลน์คือ เด็กจ้องหน้าจอมากเกินไป สำหรับการสำรวจในมุมของเด็กว่าควรเรียนกี่นาทีต่อวิชา (คำตอบที่ได้ คือ 40 นาที) แต่อาจจะมีการเรียนผสมการเล่นเกม ซึ่งความเห็นส่วนตัวจากที่ได้สัมผัสจากเด็กที่เรียนออนไลน์ เด็กเครียดมาก แต่ในระหว่างที่เด็กเครียดก็จะเห็นอีกมุมหนึ่ง คือ เด็กจะมีความเป็นห่วงเป็นใยเพื่อน เด็กจะมาบอกว่าเพื่อนมีปัญหาอินเทอร์เน็ต-โทรศัพท์ มาปรึกษาครูว่าทำอย่างไรได้บ้าง หรืออีกปัญหาที่พบคือ
บางบ้านมีลูก 2 คน แต่ผู้ปกครองมีโทรศัพท์เครื่องเดียว กลายเป็นว่าบ้านนั้น พี่ต้องเสียสละให้น้องเรียนก่อนแล้วพี่ค่อยมาตามงานทีหลังจากเพื่อน นอกจากนี้ยังแชร์ประสบการณ์จากเพื่อนร่วมอาชีพที่สอนเด็กปฐมวัย ซึ่งได้ทำใบงานส่งให้นักเรียนตามบ้านแล้วกำหนดส่ง แต่ผู้ปกครองก็อาจจะไม่มีเวลา ดูแล กำกับ สุดท้ายแล้ว ทั้งเด็กและผู้ปกครองต่างเครียด ไม่มีความสุข เพราะความไม่พร้อมของบริบทหลายๆ อย่าง
.
รศ.ดร.ธนัทณัฏฐ์ ฉัตรภัครัตน์ สำนักเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การสอนแบบออนไลน์ไม่ใช่การสอนเหมือนในห้องเรียน ซึ่งอาจจะต้องลดเวลา และนำเวลาที่ลดไปให้เด็กทำกิจกรรมอื่นๆ เพราะการสอนออนไลน์แบบเต็มเวลา เด็กจะเครียดและกังวล ส่วนครูเอง อาจต้องแปลงเนื้อหาหรือคอนเทนต์ใหม่ให้เข้ากับบริบท บ้านไหนอินเทอร์เน็ตไว ครูจะต้องมี e-Learning ให้เด็กเข้าไปดู หรือบ้านไหนไม่สะดวก อินเทอร์เน็ตไม่พร้อม ครูก็อาจจะต้องส่งเอกสารออนแฮนด์ไปให้ผู้ปกครองแทน ส่วนปัญหาเด็กไม่เปิดกล้องมองว่าไม่ใช่ประเด็น อย่างประเทศญี่ปุ่น จะไม่มีการให้เด็กเปิดกล้อง เพราะเป็นการคุกคามสิทธิส่วนบุคคล แล้วแต่ความพร้อมความพึงพอใจของเด็ก ซึ่งอาจมีเพียงการเปิดช่วงแรกหรือขอถ่ายภาพเล็กน้อยเท่านั้น เด็กบางคนอาจไม่สะดวกเปิดกล้องด้วยสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือบางคนใช้สมาร์ทโฟนและอาจต้องเก็บแบตเตอร์รี่ไว้สำหรับเรียนวิชาอื่นๆ ด้วยซ้ำ นอกจากนี้ การเรียกชื่อเด็กถาม-ตอบระหว่างสอน เด็กอาจรู้สึกเครียด ดังนั้น การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเสริมแรงผู้เรียน เช่น Quit it (ควิซอิท) เป็นเครื่องมือที่ครูจะต้องมาพัฒนา โดยระหว่างการบรรยาย 2-3 เรื่อง อาจตั้งคำถามแทรก ซึ่งโปรแกรมนี้จะช่วยให้เด็กตอบ และเป็น feedback ที่ดี ทั้งตัวครูเองและผู้เรียน ครูก็อาจจะทำเป็นควิซง่าย ๆ ให้เด็กได้ลองทำ
.
รศ.ดร.ธนัทณัฏฐ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การเรียนออนไลน์ ครูอาจจะต้องเน้นคะแนนการมีส่วนร่วม การทำกิจกรรม คะแนนคุณธรรมจริยธรรม ความตรงต่อเวลา ความเห็นอกเห็นใจเพื่อนให้มากขึ้น สำหรับเนื้อหาบางอย่างอาจจะต้องเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันเพื่อให้เด็กนำไปใช้ในบริบทของเขาเองได้ และการสร้างสัมพันธภาพระหว่างเด็กเป็นสิ่งสำคัญ การชวนคุย ถามความรู้สึก แสดงความห่วงใย จะทำให้เด็กลดความเครียดลงได้
.
คุณสุเนตร จันทร์สว่าง โรงเรียนสามร้อยยอดวิทยาคม กล่าวว่า ปัญหาที่พบ คือ เด็กมาปรึกษาว่าเรียนไม่รู้เรื่อง ตามไม่ทัน ไม่เข้าใจ ไม่เหมือนเรียนในห้อง พบว่าเด็กท้อ เลยแนะนำว่าให้ค่อย ๆ เรียบเรียงว่าอะไรสำคัญหรือไม่สำคัญ ส่วนปัญหาที่เกิดจากการสอนที่พบคือ เด็กไม่เข้าเรียน อย่างเด็ก 40 คน เข้าเรียนแค่ 5 คนบ้าง 3 คนบ้าง เพราะเด็กอุปกรณ์ไม่พร้อม หรือบางบ้านก็ไม่มีได้มีพื้นที่ส่วนตัว อยู่รวมกันหลายคน ทำให้เด็กไม่มีสมาธิในการเรียน สำหรับเรื่องการให้การบ้านเด็ก ส่วนตัวมองว่า การบ้านเด็กทุกวันนี้เยอะมาก สมมติครูให้การบ้านเด็กคาบละ 1 ชิ้น สัปดาห์หนึ่ง เด็กเรียนทั้งหมด 9 วิชา ซึ่งเยอะมากเกินไป ตนเองจึงมีหลักในการให้การบ้านเด็ก คือ ให้การบ้านสัปดาห์เว้นสัปดาห์ และโดยเฉพาะช่วงสอบจะหลีกเลี่ยงการให้การบ้าน เพื่อให้เขามีเวลาเตรียมอ่านหนังสือสอบ นอกจากนี้ ยังสะท้อนเรื่องการสร้างสัมพันธภาพระหว่างครูกับเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากกับการสอบถามชวนคุยกับเด็กในเรื่องทั่วๆ ไป เช่น นอนดึกไหม เล่นเกมบ้างไหม สนุกไหม ความเป็นอยู่กับช่วงโควิดเป็นอย่างไร เหล่านี้จะทำให้เด็กสนิทใจและกล้าที่จะแชร์มากขึ้น
.
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวทิ้งท้ายสำหรับประเด็นด้านการศึกษาว่า ไม่ว่าจะเรียนออนไลน์ หรือออนไซต์ การบ้านไม่ควรมี และควรยกเลิกการตัดเกรด ครูควรให้เด็กมีเวลาได้เรียนรู้ด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ ดนตรี กีฬา หรือแม้กระทั่งการรู้จักช่วยเหลืองานบ้านเล็กๆ น้อยๆ รู้จักเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบการใช้ชีวิตของตัวเอง เนื่องจากทุกวันนี้ถ้านับย้อนกลับไป 10 ปีก่อน จิตสำนึกสาธารณะของเด็กที่มีลดลงจากเดิมเยอะมาก สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องทำให้กับเด็กๆ คือการสะสมพลังบวก ไม่ใช่พลังลบ ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครองและครู จะต้องช่วยกัน และขณะเดียวกัน ระบบการสร้างตัวชี้วัดของครูอันมากมายควรต้องถูกยกเลิก และหันมาปรับเปลี่ยนระบบใหม่ โดยให้โรงเรียนปรับบทบาทเป็น Center for Home School เป็นศูนย์กลางของชุมชน จัดเวลาเรียนใหม่ในเวลาที่พ่อแม่พร้อม หรือผู้ปกครองท่านไหนพอจะมีสมรรถนะ มีความพร้อมมากๆ อาจเปิดให้เป็นอาสาสมัคร ให้โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ เกื้อกูล ซึ่งกันและกัน วันเสาร์/อาทิตย์ โรงเรียนอาจจะ Up Skill ให้กับพ่อแม่ หรือคนในชุมชน เพื่อมาร่วมเป็นอาสาสมัครทางการศึกษาและช่วยสนับสนุนให้กับบ้านที่พ่อแม่ยังไม่พร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์
.
ข้อสรุปจากการเสวนาครั้งนี้ การเรียนออนไลน์ที่เหมาะสม ควรต้องเตรียมเครื่องมือให้พร้อม สำรวจความพร้อมของเด็กและผู้ปกครองเพื่อออกแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสม และความพร้อมของโรงเรียน คือ การบูรณาการการบ้านให้เหลือน้อยชิ้นแต่ครอบคลุมวิชาเรียน และให้จบในห้องเรียน ครูต้องปรับทัศนคติ ปรับวิธีการ เสริมทักษะการสอน สร้างสัมพันธภาพกับเด็ก ให้รู้สึกถึงความห่วงใย เพิ่มความใกล้ชิด สอดแทรกเทคนิคการสอนให้สนุก ไม่ต้องใช้เวลานานเท่ากับสอนแบบออนไซต์ นอกจากนั้นคือการมองไปข้างหน้าเพื่อออกแบบการเรียนการสอนหลังจากสถานการณ์โควิดไปแล้ว ครูอาจต้องเตรียมรับมือการปรับรูปแบบการเรียนการสอนในอนาคตโดยออกแบบจากบทเรียนที่เกิดขึ้น
.
เวทีเสวนานวัตกรรมการจัดการศึกษาในช่วงวิกฤตโควิดด้วยพลังบวก มีทั้งหมด 6 ครั้ง ซึ่งเวทีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก และจะจัดครั้งต่อๆ ไปทุกวันพุธ เวลา 15.00 - 17.00 น. ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting โดยผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook Fanpage โรงเรียนคุณธรรม-โชว์-แชร์-เชื่อม : https://bit.ly/3oly6S6
--------------------------------------------
ข่าวโดย กลุ่มงานส่งเสริมคุณธรรมเครือข่ายทางสังคม ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)