วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๑ เวลา ๐๘.๓๐ น. ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับ ๑๐๕ องค์กรภาคีร่วมจัดงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ ได้ดำเนินการประชุมภาคีสมัชชาคุณธรรมเพื่อรายงานสรุปผลการจัดสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๙

2 1
3 4
5 6

พร้อมติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนตามประกาศเจตนารมณ์ และหารือแนวทางการขับเคลื่อนคุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา ณ ห้องไฮเดรนเยีย ๑ ชั้น ๖ โรงแรมที เค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น ถนนแจ้งวัฒนะ หลักสี่ กรุงเทพฯ โดยมีนายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ประธานกรรมการจัดงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ กล่าวเปิดงาน และนายสิน สื่อสวน ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ได้ให้กรอบทิศทางของยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายการส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทย ทั้งนี้นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ได้กล่าวว่า ภายหลังการจัดสมัชชาคุณธรรมคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ ศูนย์คุณธรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ได้นำประกาศเจตนารมณ์และข้อเสนอมอบต่อรองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ เครืองาม) ซึ่งท่านได้กล่าวชื่นชมภาคีสมัชชาคุณธรรมที่ได้รวมพลังอย่างเข้มแข็งและมีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมคุณธรรมตามประกาศเจตนารมณ์อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลให้ความสำคัญและร่วมสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยได้นำข้อเสนอดังกล่าวส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และบรรจุในแผนแม่บทของยุทธศาสตร์ชาติ ด้านที่ ๓ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรทุนมนุษย์แล้ว โดยในส่วนของทิศทางการขับเคลื่อนสมัชชาคุณธรรม ปี ๒๕๖๒ ศูนย์คุณธรรมในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการจัดกระบวนการสมัชชาคุณธรรม มีแผนจัดเวทีสมัชชาคุณธรรมในระดับภูมิภาค ๔ ภูมิภาค ภาคเหนือ จัดที่จังหวัดสุโขทัย ภาคกลางจัดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดที่จังหวัดอุดรธานี และภาคใต้ จัดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีต้นทุนทางคุณธรรมและวัฒนธรรมอันดีงามของแต่ละภูมิภาค โดยมีแผนจัดในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ๒๕๖๒ และสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ มีกำหนดจัดในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๒ และฝากงานสมัชชาคุณธรรมไว้ในมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ อย่างมีพลังต่อไป

ทั้งนี้ที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นต่อ ทิศทางการขับเคลื่อนและประเด็นการจัดสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ โดยมีข้อสรุปที่สำคัญว่า กระบวนการสมัชชาคุณธรรมต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วน ทุกเครือข่าย ทุกกลุ่ม เพศ วัย โดยเฉพาะเด็กเยาวชน กลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงผู้ด้อยโอกาสในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ และร่วมรับผิดชอบ เพื่อสร้างกระบวนมีส่วนร่วม สมัชชาคุณธรรมต้องเป็นเวทีของทุกภาคส่วน โดยให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของ “รู้สึกว่าต้องทำ เพราะนี่คือประเทศของเรา” ทั้งนี้การขับเคลื่อน ๔ คุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา ต้องทำให้คนไทยเห็นว่าคุณธรรมอยู่รอบๆ ตัวเรา มีการผลิตสื่อคุณธรรม สื่อสร้างสรรค์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้เด็กเยาวชนและคนในสังคมค่อยๆ ซึมซับอย่างต่อเนื่องทุกวัน ต้องร่วมกันขับเคลื่อนโดยยึดหลักการทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนว่า หากทำแล้ว “คนในสังคมไทยจะมีความสุขยั่งยืน เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และสมัชชาคุณธรรมต้องนำไปสู่การกำหนดมาตรการ นโยบายสนับสนุนการส่งเสริมคุณธรรม ซึ่งต้องมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาคุณธรรม มีรูปแบบที่นำเสนอความสำเร็จด้วยกระบวนการชม แชร์ ช่วย เชื่อมและยกย่องเชิดชูคนดีองค์กรดีภายในงาน ต้องมีการสรุปผลสำเร็จที่ผ่านมาเพื่อก้าวสู่ทศวรรษใหม่ ภายใต้แนวคิด “๑ ทศวรรษสมัชชาคุณธรรม สร้างคนรุ่นใหม่ให้สังคมไทยก้าวไกลสู่พลโลก” โดยยกระดับคุณค่าที่ดีงามของคนไทย (ทุนความดีที่โลกยอมรับ) สู่สากล มุ่งเน้นการเปิดเวทีให้สมัชชาคุณธรรมก้าวไปสู่ระดับนานาชาติมากขึ้น


สรุปโดย กลุ่มขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและสมัชชาคุณธรรม

ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)