19 สิงหาคม 2564 ศูนย์คุณธรรม จัดประชุมวิชาการคุณธรรมในพื้นที่ทางสังคม (ออนไลน์) ครั้งที่ 2 หัวข้อ “จิตสาธารณะ กับการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคม” ผ่านทาง Facebook Live Moral Spaces ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยแบ่งเป็น 2 Session : Session 1

 

“จิตสาธารณะและนวัตกรรมทางสังคม : การตั้งรับ & ปรับตัวในสถานการณ์โควิด” และ Session 2 “นวัตกรรมทางสังคม : เครื่องมือในการขับเคลื่อนจิตสำนึกสาธารณะ” 

.
คุณคุณาวุฒิ บุญญานพคุณ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า นวัตกรรมทางสังคม คือ สร้างความรู้ใหม่ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม และต้องสร้างความยั่งยืนไปด้วย นวัตกรรมจึงจะทำต่อเนื่องได้ และองคาพยพของการพัฒนานวัตกรรม ต้องดูเรื่องของชุมชน สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนควบคู่กันไป ขณะที่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ภาคเอกชน ภาครัฐ หรือคนรุ่นใหม่ มีความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมได้ไม่แพ้ประเทศอื่นๆ เพียงแต่ยังขาดการบริหารจัดการร่วมกัน หรือแม้แต่เรื่องของการเชื่อมโยงในการดึงนวัตกรรมที่สำเร็จแล้วนั้นมาขยายผลต่อ 
.
คุณคุณาวุฒิ ฉายภาพจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง กรณีหากวิกฤติโควิดสิ้นสุดลง อาทิ ประเด็นด้านสุขภาพ พบว่า ผู้คนส่วนใหญ่ มากกว่า 75% กังวลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่มาจากโควิด-19 ในระดับปานกลาง ส่งผลให้คนทำประกันสุขภาพโควิด-19 มากขึ้น และกลัวต่อโรคที่มาจากสถานที่ สิ่งของ หรือผู้คนที่มาจากความเสี่ยง, ประเด็น Digital Transformation ซึ่งมีการปรับตัวมาใช้ระบบออนไลน์กันมากขึ้น มีตลาดขายของออนไลน์โตถึง 79% ภาครัฐเอง มีการใช้ข้อมูลแบบ Big Data ที่ใหญ่มากขึ้น หรือแม้แต่แพลตฟอร์มเดลิเวอร์รี่ต่างๆ ก็จะเติบโตขึ้นในอนาคต ในทางตรงข้าม ด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงแรม ช่วงสองสามปีต่อจากนี้ นักท่องเที่ยวจะลดลงเรื่อยๆ เกิดการชะลอตัวของภาคการผลิต หลายโรงงานต้องปิด Work from Home ทำให้ Value Chain ทำได้ค่อนข้างยาก จากสภาวะดังกล่าว หากบ้านเราไม่รีบพัฒนาแพลตฟอร์มหรือนวัตกรรมเข้ามาตอบโจทย์ หรือแก้ไขปัญหาเหล่านี้จะทำให้ตามไม่ทัน และเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากในอนาคต 
.
คุณคุณาวุฒิ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับจิตสาธารณะกับการพัฒนานวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาคเอกชน ภาคประชาชนทั่วไป ปัจจุบันนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะนำจิตสาธารณะมาขับเคลื่อนนวัตกรรม เนื่องจาก เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น นวัตกรรมก็มักจะมากับการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำมาแก้ปัญหา อาจจะเรียกว่า พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ในการที่จะให้จิตสาธารณะเกิดขึ้นในสังคมไทย และนวัตกรรมเพื่อสังคมกับจิตสาธารณะจริงๆ แล้วสามารถไปด้วยกันได้ อย่างประเด็นในเรื่องการพัฒนาคน การศึกษา ควรเป็นลำดับแรกที่อาจจะต้องหานวัตกรรมเข้ามาเสริมมากขึ้น นวัตกรรมสำหรับคนทุกช่วงวัย ก็เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อรับมือกับวิกฤติใหม่ ๆ เช่น ในอนาคตเกิดสังคมเมืองมากขึ้น ปัญหาการขยายตัวของสังคมเมือง ที่ไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพ หลายหัวเมืองเริ่มมีปัญหา การเตรียมคนที่พร้อมจะมาแก้ปัญหาและขับเคลื่อนปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเมือง และสุดท้ายคือนวัตกรรมที่สามารถสร้างความสุขให้กับคนไทย เพราะสังคมต่อจากนี้เราจะพบปัญหาความเครียด ความวิตก ความซึมเศร้ามากขึ้น  
.
ดร.รณกร ไวยวุฒิอาจารย์ด้าน Innovation Project และ Sustainable Development สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า Innovation คือการสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา หาความท้าทาย หาโอกาสใหม่ๆ แต่สุดท้ายแล้ว Innovation ต้องแปลงกลับมาให้ได้ในรูปแบบของผลประโยชน์ ผลกำไร หรือมีคุณค่าต่อสังคม เช่น ตอบโจทย์ทำให้ชีวิตดีขึ้น หรือสุขภาพดีขึ้น และสิ่งสำคัญ คือ Innovation ต้องเริ่มที่ Mindset การสร้าง Innovation จะต้องเริ่มที่คน (People) เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ส่วนสภาพแวดล้อม และอื่นๆ คือองค์ประกอบ ไม่ว่าจะสร้าง Social Innovation หรือ Innovation ทั่วไป ต้องเริ่มที่การปลูกฝัง Mindset ก่อน แล้วค่อยทำให้ Mindset นั้นขยายขึ้นไป โดยการ ใช้ tool, Framework ของ Innovator หรือ Design Thinking เพื่อให้ประสบการณ์นั้นดีขึ้น 
.
ดร.รณกร กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ว่า สมัยนี้โลกเปลี่ยนไปมาก ทำให้เด็กและเยาวชนสมัยนี้ เข้าถึงข้อมูลความรู้ ได้ง่ายมาก และการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายนั้น ส่งผลให้ Mindset ของเด็กเปลี่ยนไปเร็วมาก ๆ พอได้เข้าใจ ก็อยากที่จะสร้างนวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่ดีมากอย่างหนึ่ง คือ เด็กรุ่นนี้มีโอกาสมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ เด็กจะมีโอกาสได้ลองทำ ลองเรียนรู้จากความล้มเหลว ซึ่งจะทำให้มีความอยากในการที่จะสร้างนวัตกรรมมากขึ้น ดังนั้น นวัตกรรมจะเกิดไม่ได้เลยถ้าไม่ลองทำ 
.
“Mindset เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะก่อนจะเปลี่ยนนวัตกรรม เปลี่ยนองค์กร เปลี่ยนอะไรก็ตาม เราต้องเปลี่ยนตัวเองให้ได้ก่อน เวลาเราเจอปัญหามักจะมีอยู่สองวิธี คือ เรามองว่าเราเคยแก้ปัญหานี้ไปแล้วหรือยัง ถ้าเคย และแก้ได้ เรามักจะใช้วิธีเดิม อีกวิธีคือ ถ้าเราไม่เคยแก้ เราต้องหันไปมองคนข้างๆ เราก็เสิร์ชกูเกิ้ล สุดท้ายถ้า Mindset สอดคล้องและตรงกับสิ่งที่เรากำลังจะไป ทักษะพอมี และสามารถฝึกได้ ไม่น่ามีปัญหา และก็ต้องปรับตัวให้เร็วที่สุด เชื่อว่าไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรก็ตามแต่ เรารอดได้ เราสามารถที่จะมีชีวิตอยู่รอดได้” ดร.รณกร กล่าวทิ้งท้าย
.
คุณวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการ Enterprise Brand Management Office SCG กล่าวว่า ความเชื่อมโยงระหว่างนวัตกรรมทางธุรกิจ และนวัตกรรมทางสังคม สามารถตอบโจทย์กันได้แม้ในภาวะปกติ หรือสถานการณ์โควิดด้วยก็ตาม ซึ่งการจะสร้างนวัตกรรมเหล่านี้ได้ ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่าง การมีนวัตกรรมป้องกันโควิดของเอสซีจีที่ออกมาได้อย่างรวดเร็ว อย่างเตียงสนามกระดาษเอสซีจี ห้องไอซียู/ห้องป่วยฉุกเฉินโมดูลาร์ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เพราะมีพื้นฐานจากเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว และนำมาปรับใช้ แต่ไม่ใช่เพียงแค่เทคโนโลยีเรื่องเดียวเท่านั้น ต้องผนวกกับ Mindset ของพนักงานที่มีอยู่ในแต่ละ Sector ซึ่งเขาต้องมีความสนใจต่อปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น จึงเกิดขึ้นได้ด้วยเวลาอันรวดเร็ว ซึ่ง Mindset และ Speed คือองค์ประกอบที่สำคัญมาก 
.
คุณวีนัส กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลาที่ทำจิตสาธารณะมา มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า เวลาที่คนไทยร่วมกันกันทำเรื่องจิตสาธารณะ จะมีความ Active มาก มีคนจำนวนมากที่อยากจะมาร่วมทำ เพียงแต่ต้องการคนเริ่มต้น ต้องการระบบที่เป็นระเบียบ มีเป้าหมายว่าเราจะชัดเจนถึงไหน และสำหรับคนรุ่นใหม่ คนไทย มีจิตอาสาในตัวอยู่แล้ว เพียงอาจต้องการระบบการบริหารจัดการในภาวะวิกฤติให้ดีขึ้นอย่างเป็นระบบ ระเบียบ มีผู้นำ แผนงาน อย่างเป็นขั้นตอน ถ้ามีตรงนี้ ไม่ว่าจะเกิดอะไร ก็สามารถที่จะร่วมระดมคนที่มีความรู้ความสามารถต่าง ๆ 
มาช่วยกันได้ 
.
“การมีแพลตฟอร์มที่จะสนับสนุนคนรุ่นใหม่ หรือว่ามีสถาบันที่สอนเด็กๆ เยาวชน คนรุ่นใหม่ ให้ใช้นวัตกรรมมาผสมผสาน ซึ่งคาดหวังว่า นอกจากนวัตกรรม ก็ควรจะมีระบบในการที่เราจะช่วยเหลือวิกฤติต่างๆ 
ที่เข้ามาได้อย่างรวดเร็วว่องไว เป็นระบบ ระเบียบ แล้วก็มาช่วยกันในการทำให้ Mind set soft side ในการเป็นจิตอาสา จิตสาธารณะ ยังคงมีอยู่ในสังคมไทยที่เราไม่ทิ้งกัน” คุณวีนัส กล่าวทิ้งท้าย

 

Download PDF Press Release _จิตสาธารณะและนวัตกรรมทางสังคม