วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมาธิการด้านคุณธรรมจริยธรรม ในคณะกรรมาธิการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา

เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านคุณธรรมจริยธรรมฯ ณ อาคารสุขประพฤติ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา โดยมีวาระเพื่อพิจารณาที่สำคัญ คือ การส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

          โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ กำหนดให้รัฐจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม โดยได้หารือกับกองกลางบริหารงานบุคคลทุกกอง และให้จัดทำประมวลมาตรฐานจริยธรรมขององค์กร/หน่วยงาน ซึ่งมาตรฐานทางจริยธรรม เน้นความครอบคลุมข้าราชการรัฐทุกประเภท และกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม 7 ประการ ประกอบด้วย 1. ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศอันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2. ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดีและความรับผิดชอบต่อหน้าที่ 3. ยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม 4.ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และมีจิตสาธารณะ 5. มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน 6. ไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม 7.ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ เพื่อเป็นมาตรฐานกลางสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ และให้กำหนดกลไกจัดทำประมวลจริยธรรมโดยใช้มาตรฐาน ทั้ง 7 ข้อดังกล่าว ความแตกต่างของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ การฝ่าฝืนจริยธรรม ไม่ถือว่าผิดวินัย แต่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐอาจจัดทำข้อกำหนดจริยธรรมและหัวหน้าหน่วยงานเป็นผู้กำกับดูแลจริยธรรมอย่างเคร่งครัด โดยใช้กลไกของการบริหารงานบุคคล

          นอกจากนี้ ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยังทำให้เกิดคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม โดยมี นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธานคณะกรรมการ และนายสีมา สีมานันท์ เป็นรองประธานคณะกรรมการ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 ท่าน ทั้งนี้ มาตรฐานทางจริยธรรม เน้นกระบวนการบริหารงานบุคคลเป็นกลไกสำคัญ โดยเป็นการส่งเสริมความก้าวหน้าของบุคคลในตำแหน่งหน้าที่การงาน และควรมีมาตรการบังคับลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนประมวลจริยธรรม เป็นการยั้งประโยชน์ไม่ให้เกิดความก้าวหน้าในการทำงานระดับหนึ่ง โดยใช้กระบวนการบริหารงานบุคคลเป็นกลไกส่งเสริมคนดีให้ขึ้นมาปกครอง

          ด้าน รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ได้ให้ความเห็นต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ ต่อแนวทางการส่งเสริมคุณธรรม โดยยกตัวอย่างการส่งเสริมคุณธรรมเชิงพื้นที่ของโรงเรียนในจังหวัดบุรีรัมย์ เน้นการพัฒนาโดยใช้ระบบนิเวศน์ และหลักการพัฒนาเชิงบวก ซึ่งการพัฒนาคุณธรรมของเด็กสามารถเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของตัวเด็กเอง และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของพ่อแม่ด้วย ถือเป็น “จุดคานงัด” ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมดังกล่าว การพัฒนาสามารถดำเนินการได้ทั้ง 2 แบบ คือ outside in (จริยธรรม) และ inside out (คุณธรรม) โดยขอให้มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและจิตสำนึกด้านคุณธรรมในตัวบุคคลด้วยเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ สถานการณ์คุณธรรมทางสังคมของเด็กและเยาวชนนั้น วิกฤตในเรื่องจิตสำนึกสาธารณะบกพร่อง สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เด็กเยาวชนกลุ่มนี้จะเติบโตเข้ามาทำงานอยู่ในระบบต่าง ๆ ของสังคมต่อไป จึงเสนอให้มีการเสวนาวิชาการ 6 แพลตฟอร์ม ในการประชุมหารือเพื่อให้เกิดเป็นภาพสะท้อนปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ เป็นจุดของการขับเคลื่อนคุณธรรมในภาพรวมของสังคมไทย โดยให้กำหนดประเด็นการเสวนาและกำหนดการจัดงานเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบและมอบหมายให้ศูนย์คุณธรรม เป็นผู้ออกแบบการจัดเสวนาดังกล่าว

 

 


เขียนข่าว : กลุ่มงานยุทธศาสตร์

เรียบเรียง : กลุ่มงานสื่อสารและรณรงค์ทางสังคม