วันที่ 28 มีนาคม 2562 : นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงานสมัชชาคุณธรรมภาคใต้ “ขับเคลื่อนสังคมพหุวัฒนธรรม ด้วยคุณธรรมความดี พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา” และบรรยายพิเศษ พร้อมมอบนโยบาย “ทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านคุณธรรม”

มีกรรมการศูนย์คุณธรรม ได้แก่ นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ประธานกรรมการศูนย์คุณธรรม นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ นายดนัย จันทร์เจ้าฉาย และนางสาวอุษณี กังวารจิตต์ กรรมการศูนย์คุณธรรม ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด และเยี่ยมชมนิทรรศการส่งเสิรมคุณธรรม ภาคีเครือข่าย กว่า 30 บูธ ทั้งนี้ นายวิรัตน์ รักษ์พันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต้อนรับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กรรมการ และผู้บริหารศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติ และภาคี เครือข่าย 14 จังหวัดที่มาร่วมงาน จัดโดย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมกับ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักการจัดงาน ระหว่างวันที่ 28-29 มีนาคม 2562 ณ ศาลาประชาคม โรงละครองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช

          นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า สาระสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวข้องด้านคุณธรรม ที่รัฐบาลมุ่งหวังจะให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย โดยเฉพาะแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล 6 ยุทธศาสตร์/ด้าน ซึ่งในด้านที่จะเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเรื่องคุณธรรมของคนในชาติ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ที่มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญ เพื่อพัฒนาคนในทุกมิติ และทุกช่วงวัยให้เป็น คนดี เก่ง และมีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีของโลกและประเทศ ส่งผลต่อวิธีคิดและวิถีชีวิตของประชาชนให้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ส่งผลทำให้คนยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรมน้อยลง มีปัญหาสังคมที่สะท้อนถึงความบกพร่องทางคุณธรรมจริยธรรม คนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ความสุขอาจน้อยลง สังคมพัฒนาขึ้น แต่ยึดมั่นในความดีน้อยลง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ แม้ไม่สามารถห้ามหรือหยุดยั้งได้ แต่สามารถฟื้นฟู พัฒนาคุณธรรมของคนเพื่อ “สร้างคนดี สังคมดี” ให้เกิดบรรทัดฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุขได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายสังคมไทยอย่างยิ่ง

          นอกจากแนวทางที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติแล้ว การส่งเสริมคุณธรรมควรจะต่อยอดจากความสำเร็จจากงานเดิมที่มีอยู่ ซึ่งทราบว่าขณะนี้มีการส่งเสริมองค์กรคุณธรรม ชุมชนคุณธรรม อำเภอคุณธรรม และจังหวัดคุณธรรมที่หลากหลาย ขยายวงกว้างมากขึ้น แต่อาจเรียกชื่อแตกต่างกันไปบ้าง โดยเอาประสบการณ์ความรู้ ความสำเร็จขององค์กรเหล่านั้นมาจัดเวทีให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาเป็นความรู้ การส่งเสริมคุณธรรมที่เหมาะสมกับสังคมไทย และขยายผลออกไปให้กว้างขวาง อีกประการหนึ่งคือทำคุณธรรมจากนามธรรมให้เป็นรูปธรรม โดยอาจเลือกเอาคุณธรรมสำคัญที่เป็นเรื่องใกล้ตัวใกล้ตัวและใช้ในชีวิตประจำวันโดยปกติ เช่น “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา”

          อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนให้สังคมไทย เป็นสังคมคุณธรรมนั้น ปัจจัยความสำเร็จไม่ใช่การมีแผนระดับชาติหรือการทำงานของหน่วยงานรัฐเท่านั้น เพราะการส่งเสริมปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมเป็นเรื่องยากและท้าทาย จะใช้การสั่งการหรือบังคับไม่ได้ แต่จะต้องสร้างกระบวนการขัดเกลา บ่มเพาะ ปลูกฝัง จิตสำนึกของประชาชน และจะต้องประสานความร่วมมือ รวมพลังกับทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และองค์กรทางศาสนา ให้เป็นพลังประชารัฐขับเคลื่อนทั้งในระดับนโยบาย ปฏิบัติให้เข้าถึงบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร ทั้งหมด รัฐบาลหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในงานสมัชชาคุณธรรมระดับภูมิภาคครั้งนี้ นอกจากจะเป็นเวทีกลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อหาแนวทางการขับเคลื่อนคุณธรรมร่วมกันแล้ว ขอให้ทุกหน่วยงานทำอย่างจริงจัง

          ด้าน รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวถึงวัตถุ ประสงค์การจัดงานสมัชชาคุณธรรมภาคใต้ว่า กระบวนการสมัชชาคุณธรรม ถือเป็นกลไกหนึ่งที่สนับสนุนการสร้างการรับรู้และการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2559 - 2564) และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้านคุณธรรม โดยเป็นเวทีกลางในการขับเคลื่อนคุณธรรม ความดี แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อหาแนวทางการขับเคลื่อนวาระด้านคุณธรรม เพื่อขยายผลสู่การปฏิบัติในระดับจังหวัด ภูมิภาค และระดับชาติ และสร้างกระแสคุณธรรมอย่างมีพลังจากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสร้างกระแสรณรงค์ การพัฒนาปลุกจิตสำนึกด้านคุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา ให้เกิดการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติและสามารถวัดผลได้ตามบริบทของแต่ละองค์กร
          การจัดงานสมัชชาคุณธรรมภาคใต้ มีวัตถุประสงค์ในการจัดงานสำคัญ 5 ประการ คือ
                  1. เพื่อเป็นเวทีกลางของหน่วยงาน องค์กร เครือข่ายทุกภาคส่วนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การขับเคลื่อนและพัฒนาคุณธรรมของสังคมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
                  2. เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายและสนับสนุนกระบวนการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559-2564) และยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวข้องด้านคุณธรรม
                  3. เพื่อขยายผล ติดตามการขับเคลื่อนคุณธรรมตามประกาศเจตนารมณ์จากการจัดสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ ในระดับภูมิภาค และสร้างกระแสรณรงค์คุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา
                  4. เพื่อส่งเสริมกระบวนการค้นหา ยกย่อง เชิดชูบุคคล องค์กรด้านคุณธรรม ขยายผลแนวคิด ผลสำเร็จการขับเคลื่อนสู่สาธารณะ และการนำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมาขององค์กรเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
                  5. เพื่อรวบรวมข้อมูล องค์ความรู้ สถานการณ์คุณธรรม แนวทางการส่งเสริมเสริมและพัฒนา

          คุณธรรมเป็นประกาศเจตนารมณ์ขององค์กรเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมส่งมอบข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่กระบวนการสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ “คุณธรรม” คือ พฤติกรรม และพฤตินิสัยที่ดีต่อตนเอง ใครทำคนนั้นได้ประโยชน์ จะเกิดสารเคมีแห่งความสุขหลั่งออกมา ชโลมใจ จะไม่เป็นทุกข์ ผลดีนี้จะทำให้คนรอบข้างสัมผัสได้ และมีความสงบสุขร่วมด้วย ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรมกล่าว

 

 

ภาพบรรยากาศงาน

Download เอกสาร


เขียนข่าว : นางสาววิชดา นฤวรพัฒน์ / กลุ่มงานสื่อสารเพื่อรณรงค์ทางสังคม

ถ่ายภาพ : นายจักราชัย ทองเพ็ชร์ / กลุ่มงานสื่อสารเพื่อรณรงค์ทางสังคม