วันที่ 19 มกราคม 2562 ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดเวทีนำเสนอร่างดัชนีชี้วัด พอเพียง วินัย สุจริต จิตสาธารณะ และรับผิดชอบ (เวทีที่ 3)

ภายใต้โครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในการส่งเสริมสังคมคุณธรรม หัวข้อพัฒนาดัชนีชี้วัดพอเพียง วินัย สุจริต จิตสาธารณะ และรับผิดชอบ มี นางสาวธัญลักษณ์ ศรีสง่า หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาองค์ความรู้นวัตกรรม ศูนย์คุณธรรม กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดเวทีว่า เพื่อนำเสนอร่างดัชนีชี้วัดพอเพียง วินัย สุจริต จิตสาธารณะ และรับผิดชอบ (เวทีที่ 3) ที่อยู่ภายใต้การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านที่ 3 ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทุนมนุษย์ โดยการนำเสนอร่างดังกล่าวล้วนมาจากการระดมสมองของภาคส่วนที่หลากหลาย จากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ฯลฯ ซึ่งข้อคิดเห็นที่ได้จะถูกรวบรวมเป็นเครื่องมือในการพัฒนาร่างดัชนีชี้วัด ที่มุ่งเป้าสร้างเครือข่ายทางสังคมในการขับเคลื่อนสังคมคุณธรรมร่วมกัน ณ ห้องประชุมเซี่ยงไฮ้ คลับ ชั้น 2 โรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพฯ

        ได้รับเกียรติจาก ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บรรยายในหัวข้อ “ดัชนีชี้วัดคุณธรรมสู่แนวทางการพัฒนาศักยภาพมนุษย์” มีใจความว่า การเสนอร่างดัชนีชี้วัดที่อยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ ด้านที่ 3 คือ “การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน” จะคลอบคลุมใน 7 ประเด็น ได้แก่ การปรับเปลี่ยน การปลูกฝังค่านิยม วัฒนธรรม, การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย, การสร้างความตระหนักรู้ที่หลากหลาย, การเสริมสร้างทักษะคิด, การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์, การเสริมสร้างสุขภาวะที่ดี และการเสริมสร้างทักษะทางด้านการกีฬาเป็นหลัก การวัดค่าดัชนีชี้วัดจะทำโดยกำหนดค่า XYZ ซึ่งค่า X หมายถึงดัชนีชี้วัดที่มาจากการนำเสนอความคิดเห็นที่หลากหลายของผู้เข้าร่วม ค่า Y หมายถึงการแปลงค่าหรือการวัดความสำเร็จของงาน วัดศักยภาพของหน่วยงาน เช่น วัดในเชิงภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการลงทุนเพื่อสังคมหรือไม่ คนในสังคมมีความเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันหรือไม่ หรือการวัดค่า CPI ตัวชี้วัดการทุจริตคอรัปชั่น ฯลฯ สุดท้ายค่า Z หมายถึง การวัดค่าดัชนีชี้วัดว่ามีความสอดคล้องหรือสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติอย่างไร เป็นต้น 

        รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กล่าวถึง “ภาพอนาคตในการดำเนินงานของศูนย์คุณธรรม” ว่า การปรับเปลี่ยนค่านิยมเพื่อเสริมสร้างให้คนไทยทั้งประเทศมีคุณธรรม จริยธรรม พอเพียงและรักถิ่นฐานถือเป็นเรื่องท้าทาย เพราะปัญหาของประเทศไทยอยู่ที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบ (Meso - System) ดังนั้น การแก้ไขปัญหา คือ การปรับเปลี่ยนระบบนิเวศของมนุษย์ (Bio-ecosystem Model) ที่จำเป็นในทุกด้าน ทั้งที่บ้าน โรงเรียน ชุมชน สถานที่ทำงาน รวมถึงการนำหลักธรรมทางศาสนาที่ศรัทธามาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวเพื่อเป็นหลักยึดในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไปสู่การเรียนรู้ที่ซึมทราบจนกลายเป็นวิถีชีวิต และเป็นพฤตินิสัย โดยย้ำว่า ภาพการดำเนินงานของศูนย์คุณธรรมในอนาคต สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ และสอดรับกับ 9 ประเด็นหลักในเชิงพฤติกรรมที่กำหนดเป็นแนวปฏิบัติ (Guideline) ในการพัฒนาตัวชี้วัดคุณธรรมในองค์กรและชุมชน ได้แก่ การใช้ทรัพยากรคุ้มค่า การทำตามกฎระเบียบ การจัดการข้อมูลชัดเจน การทำงานโปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อผู้รับบริการ การทำงานร่วมกันในองค์กรและชุมชน การทำกิจกรรมเพื่อชุมชนและสังคม และการดูแลทรัพยากรส่วนรวม รู้ทันการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ยังเสนอให้เพิ่มเติมในอีก 3 ประเด็น ได้แก่ การทำงานอย่างมีความสุข การจับถูกมากกว่าจับผิด (positive reaction) และ การบรรลุเป้าหมายที่เหมาะสม ซึ่งทั้งหมดจะสอดรับกับการทำงานของศูนย์คุณธรรม ภายใต้ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมระบบพฤติกรรมไทย

        สำหรับเวทีระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ ได้ข้อสรุปจากผู้เข้าร่วมที่มาแลกเปลี่ยนและแชร์ประสบการณ์ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม กว่า 70 คน ผ่านวิทยากรกระบวนการ (คุณจารุปภา วะสี) ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แม่ ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกรอบการดำเนินงานดัชนีชี้วัดคุณธรรมที่องค์กรและชุมชนสามารถนำไปใช้และปฏิบัติได้จริง และเสนอให้มีองค์กรกลางที่ทำหน้าที่สื่อสารว่าบุคคลหรือองค์กรใดจะมีบทบาทตอบปัญหาและชี้แจงแนวทางการนำดัชนีชี้วัดนี้ไปใช้.


เขียนข่าว : นางสาววีนัส เวลาดี / กลุ่มงานสื่อสารเพื่อรณรงค์ทางสังคม

ถ่ายภาพ : นายจักราชัย ทองเพ็ชร์ / กลุ่มงานสื่อสารเพื่อรณรงค์ทางสังคม