20181219 181220 0004             

       18 ธันวาคม 2561 ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พัฒนาดัชนีชี้วัดคุณธรรม มีเครือข่ายจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา  27 หน่วยงาน จำนวนกว่า 40 คน เข้าระดมความคิดเห็น กำหนดกรอบตัวชี้วัดคุณธรรม 5 ประการ ได้แก่ พอเพียง วินัย สุจริต จิตสาธารณะ และรับผิดชอบ

หวังให้เป็นเครื่องมือในการรณรงค์ วัดผลการดำเนินงานส่งเสริมคุณธรรมขององค์กรต่างๆ และบรรลุเป้าหมายพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในทุกมิติให้ “ดี เก่ง และมีคุณภาพ” พร้อมขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไปข้างหน้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

       รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาติ หรือ หมอเดว ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้กล่าวถึงการพัฒนากระบวนการสร้างเสริม “ต้นทุนชีวิต” ในการเสวนา “ทุนมนุษย์คุณธรรมได้” โดยต้นทุนชีวิตนั้น ถือปัจจัยความสำคัญในการกำหนดทิศทางให้กับชุมชน เป็นการพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยพลังบวก และเป็นเครื่องมือในการวัดจิตสำนึกของเด็ก รวมทั้งระบบนิเวศน์ในวิถีชีวิตที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน ซึ่งสามารถบ่งบอกว่า เด็กมีโอกาสที่จะนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงใดบ้าง ทำให้ทราบถึงจุดอ่อนของต้นทุนทั้งภายในและภายนอกของเยาวชนในด้านต่างๆ นำไปสู่การพัฒนาหรือเสริมสร้างต้นทุนชีวิต โดยอาศัยกิจกรรมที่ตรงกับการพัฒนาต้นทุนที่ดีตามที่ต้องการ

       หมอเดว ยังได้กล่าวต่ออีกว่า พลังทุนชีวิตนั้น คือระบบในการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยต้องทำให้เขามีความรู้สึก มีจิตสำนึกต่อตนเอง และจิตสำนึกต่อสาธารณะ โดยเฉพาะจิตสำนึกของการอยู่ร่วมกัน การแบ่งปันกันในชุมชน การใช้เครื่องมือวัดพลังบวกด้วยแบบสำรวจทุนชีวิต ถือเป็นตัวชี้วัดเพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวังกลุ่มเยาวชนจากสภาพแวดล้อม และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถนำมาวิเคราะห์ด้านคุณธรรมจริยธรรม จากการวัดทุนชีวิตของเยาวชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหรือเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของเด็กให้แข็งแรงได้

       คุณวรวรรณ พลิคามิน ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และเป็นหนึ่งในวิทยากรเสวนา “ทุนมนุษย์คุณธรรมได้”  ได้กล่าวถึง แนวทางการพัฒนาดัชนีชี้วัดด้านคุณธรรม ที่ช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ โดยได้นำเสนอทฤษฎีด้านคุณธรรมจริยธรรมที่เอื้อต่อการกำหนดตัวชี้วัด และสามารถจับต้องได้ เช่น ทฤษฎีเซลล์กระจกเงา (Mirror Neuron Theory) ที่สามารถสะท้อนภาพพฤติกรรมของตนเอง และช่วยอธิบายพฤติกรรมการเลียนแบบของบุคคลใกล้ชิด โดยสามารถกำหนดตัวชี้วัดที่เป็นต้นแบบคนดีในสังคมได้ และทฤษฎีที่สองคือ การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของณองเพียเจท์ (Jean Piaget) ซึ่งเป็นการพัฒนาจริยธรรมโดยแบ่งตามระดับสติปัญญาของแต่ละบุคคล เช่น ขั้นก่อนจริยธรรม ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 2 ขวบ ขั้นเชื่อฟังคำสั่ง ระหว่างอายุ 2 – 8 ขวบ และขั้นยึดหลักแห่งตน อายุระหว่าง 8 – 10 ขวบ โดยทฤษฏีนี้สามารถนำมาใช้กำหนดแนวทางการส่งเสริมคุณธรรมที่เหมาะสมของแต่ละช่วงวัยได้ นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีพัฒนาจริยธรรม 6 ขั้นตอนของลอว์เรนซ์ โคลเบอร์ก (Lawrence Kohlberg) ที่ช่วยส่งเสริมการรับรู้บทบาทของปัจเจกบุคคล และสร้างแรงจูงใจด้านคุณธรรม 

       กิจกรรมในภาคบ่าย จะเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแชร์ประสบการณ์การทำตัวชี้วัดจากองค์กรภาคส่วนต่างๆ โดยคุณจารุปภา วะสี วิทยากรกระบวนการ และเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ จากมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แม่ ซึ่งผลจากการระดมความคิดเห็น ทำให้เกิดแนวทางในการพัฒนา ข้อจำกัด และสิ่งที่ควรคำนึงถึงในการพัฒนาตัวชี้วัด โดยจุดร่วมที่ทุกภาคส่วนเห็นพ้องต้องกันในการกำหนดกรอบตัวชี้วัด คือ 1. ต้องชี้ชัด วัดง่าย ทำได้ตลอดเวลา  2. มีพลัง  3. เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม และ 4. เกิดความยั่งยืน ในขณะที่รูปแบบของตัวชี้วัดจะมีความแตกต่างกันทั้งในเชิงนโยบาย เชิงพื้นที่ เชิงประเด็น หรือแบ่งตามกลุ่มเป้าหมาย ปัจจัยความสำเร็จของการทำตัวชี้วัดนั้น ต้องมาจากหลักความจริง ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง โดยสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม และตัวชี้วัดสามารถเทียบเคียงกับตัวชี้วัดอื่นๆ ที่สะท้อนด้านคุณธรรม โดยไม่ต้องไปกำหนดขึ้นใหม่ให้เกิดความซับซ้อน

       หัวใจที่สำคัญของการทำตัวชี้วัด จึงไม่ได้อยู่ที่ประสิทธิภาพของการวัดเพื่อประเมินคุณภาพเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การสร้างกรอบให้เกิดการยอมรับจากผู้ปฏิบัติ ตัวชี้วัดจึงเป็นเหมือนการตั้งโครงหรือกรอบเพื่อกำหนดทิศทาง ตามบริบทที่เกิดขึ้นจริง ความท้าทายของการทำตัวชี้วัดคือ ต้องทำให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเกิดความเข้าใจ เป้าหมาย วัตถุประสงค์ของตัวชี้วัด  และไม่ทำให้กลายเป็นภาระงานของคนทำงาน

       “การพัฒนาดัชนีชี้วัดคุณธรรม 5 ประการ” เป็นหนึ่งในโครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ที่ศูนย์คุณธรรมเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริม พัฒนา และวัดผลการดำเนินงานด้านคุณธรรมของภาคส่วนต่างๆ โดยจะมีการจัดกระบวนการพัฒนาตัวชี้วัดร่วมกับเครือข่ายทางสังคม จำนวน 3 เวที (เวทีนี้เป็นครั้งแรก) เวทีครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นในวันที่ 29 มกราคม และครั้งที่ 3 วันที่ 19 มีนาคม 2562 โดยจะนำผลที่ได้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และจัดทำรายงานพัฒนาดัชนีชี้วัดคุณธรรมของสังคมไทยต่อไป 

 


ผู้เขียนข่าว : ติณณพัชช์  พูลพิพัฒน์ / กลุ่มงานพัฒนาองค์ความรู้นวัตกรรม