14 ธันวาคม 2566 กลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมและระบบพฤติกรรมไทย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมกับคณะนักวิจัยจากบริษัท โคจอย คอนซัลติ้ง จำกัด จัดประชุมถอดบทเรียนโครงการ “พัฒนาศักยภาพและการเตรียมความพร้อมกระบวนการรับรององค์กรส่งเสริมคุณธรรม” ณ ห้องประชุมภักดี 1 อะบลูม เอ็กซ์คลูซีฟ เซอร์วิส อพาร์ทเมนท์ กรุงเทพฯ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อการพัฒนากระบวนการรับรององค์กรคุณธรรมและการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม “ผู้รับรององค์กรคุณธรรมและผู้เยี่ยมสำรวจ (ขั้นพื้นฐาน)” จากผู้ร่วมฝึกอบรมในรุ่นแรกจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และผู้ทรงคุณวุฒิประกอบด้วย นายนราวิช นาควิเวก ผู้ก่อตั้ง Excellent People พล.อ.ท. สุชิน บุญมา ผู้เยี่ยมสำรวจจากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) และนางสาวมะลิ จันทร์สุนทร ผู้อำนวยการสำนักรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ให้ภาพเป้าหมายงานกระบวนการรับรององค์กรคุณธรรมว่า มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาและการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร โดยเน้นหลัก “จับถูกมากกว่าจับผิด” และเสริมพลังให้กับคนในองค์กร จากการพิจารณากระบวนการส่งเสริมคุณธรรมในบริบทองค์กร โดยมีแนวทางทำงานร่วมกับหน่วยที่มีหน้าที่กำกับดูแล (Regulator) ที่สมัครใจเข้ามาเป็นต้นแบบ (Prototype) ในการนำกระบวนการรับรององค์กรคุณธรรมไปใช้ และยังได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงและพัฒนากระบวนการรับรององค์กรคุณธรรมและหลักสูตรฯ ว่าต้องทำให้เห็นเป้าหมายสูงสุด (Ultimate goal) ของการทำเรื่องการรับรององค์กรคุณธรรมว่าสุดท้ายแล้วเกิดผลอย่างไร และทำให้เห็นเป้าหมายย่อยตลอดเส้นทางควบคู่กันไป ควบคู่กับการทำให้ผู้เข้าร่วมเปิดใจและอยากร่วมกระบวนการไปด้วยกันด้วยเทคนิคการสร้างสถานการณ์จำลอง (Scenario based)
.
นอกจากนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิยังได้ร่วมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้ นางสาวมะลิ จันทร์สุนทร ให้ภาพกระบวนการรับรองว่ามี 2 รูปแบบ คือ 1. Accredit คือ การรับรองที่มีมุมมองว่ามีมาตรฐานที่ตายตัว สิ่งใดไม่สอดคล้องตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ก็จะไม่ได้รับการรับรอง และ 2. Recognition คือ การรับรองที่พิจารณาจากความสอดคล้อง ซึ่งเป็นมุมมองเชิงบวก พล.อ.ท.สุชิน บุญมา เสนอว่าควรมีการสื่อสารให้องค์กรได้เห็นความสำคัญในการพัฒนาองค์กรในมิติคุณธรรม และผู้นำองค์กรต้องมีความเข้าใจและให้ความสำคัญ รวมทั้งต้องมีการกำหนดแผนกลยุทธ์ในการขับเคลื่อน และนายนราวิช นาควิเวก ชี้ให้เห็นว่าการตรวจสอบที่เน้นการจับผิดนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความหวาดกลัว และนำไปสู่การทำงานแบบผักชีโรยหน้า ดังนั้นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนคุณธรรมคือการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดคุณธรรม
.
ภาพและข่าว : กลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมและระบบพฤติกรรมไทย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)
#ศูนย์คุณธรรม #ทำดีไม่ต้องเดี๋ยว #คนดีมีพื้นที่ยืน #ความดีมีพื้นที่ในสังคม #กระทรวงวัฒนธรรม
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
🌐 Facebook : ศูนย์คุณธรรม https://www.facebook.com/MoralCenter
🎥 YouTube : Moral Channel https://youtube.com/user/moralcenter