16 - 17 กันยายน 2566 ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) โดย กลุ่มงานส่งเสริมคุณธรรมเครือข่ายทางสังคม สำนักส่งเสริมและขับเคลื่อนเครือข่ายทางสังคม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ลงพื้นที่ติดตามและประเมินผลหลักสูตร “นักบริหารชุมชนยุคใหม่ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”
และมอบธงคุณธรรมขับเคลื่อนสังคมคุณธรรมแก่ 5 พื้นที่ ได้แก่
- ชุมชนบ้านโตรม หมู่ 1 ตำบลสองแพรก อำเภอชัยบุรี
- บ้านนิคมที่ 2 หมู่ที่ 9 ตำบลไทรขึง อำเภอพระแสง
- บ้านนิคมที่ 2 หมู่ที่ 12 ตำบลไทรขึง อำเภอพระแสง
- หมู่ที่ 5 บ้านมอเก็ต ตำบลควนศรี อำเภอนาสาร และ
- หมู่ที่ 4 บ้านวังใหญ่ ตำบลควนศรี อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี
กิจกรรมวันแรก (16 กันยายน 2566) ช่วงเช้า เริ่มต้นด้วยเวทีเสวนาผู้นำชุมชน และกรรมการหมู่บ้าน ชุมชนบ้านโตรม หมู่ 1 ต.สองแพรก อ.ชัยบุรี ถึงรูปธรรมความสำเร็จจากการนำธรรมนูญชุมชน ไปขยายผลสู่การขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมต้นแบบ สำหรับชุมชนบ้านโตรม เป็นชุมชนเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ที่มีความโดดเด่น เรื่อง การรวมกลุ่มของวิสาหกิจชุมชน ในการแปรรูปวัตถุดิบท้องถิ่น อาทิ พริก และขมิ้น สู่การผลิตและแปรรูป “เครื่องแกงก้องฟ้า” เพื่อช่วยลดปัญหาผลผลิตล้นตลาด หลังจากนั้นเป็นการลงพื้นที่วัดสมัยสุวรรณ วัดเก่าแก่ประจำชุมชน เพื่อกราบสักการะขอพรหลวงพ่อเพชร และเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ชุมชน ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของคนในชุมชน (ในอดีต) ที่มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์วิถีชีวิตท้องถิ่นให้เยาวชนรุ่นหลังเกิดการเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น ช่วงบ่าย เป็นการลงพื้นที่เยี่ยมชมไร่ทรัพย์สุวรรณ แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ บนพื้นที่เอกชนกว่า 34 ไร่ ที่กำลังพัฒนาเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และขยายผลสู่แหล่งเรียนรู้วิถีชุมชน ต่อด้วยการลงพื้นที่เยี่ยมชมบ้านนิคมที่ 2 หมู่ที่ 9 และหมู่ที่ 12 ต.ไทรขึง อ.พระแสง ทั้งนี้ พื้นที่บ้านนิคมที่ 2 หมู่ที่ 9 ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ “ถนนกินได้” เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนสามารถเก็บผักริมถนนกินได้โดยไม่จำเป็นต้องซื้อ และขยายผลต่อยอดโครงการสู่การปลูกพืชผักสวนครัวในพื้นที่ห้องประชุมประจำหมู่บ้าน วัด หมู่บ้านบริเวณใกล้เคียง และขยายผลทั้งตำบล โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ “ชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืน” และพื้นที่สุดท้าย เป็นการลงพื้นที่ชุมชนหมู่ที่ 12 ต.ไทรขึง อ.พระแสง พื้นที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ปี 2021 ครัวต้นแบบ นายโสภณ เจ๊ะตะโส ที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการทำโคกหนองนาโมเดล และขยายผลการ “ทำปุ๋ยอินทรีย์จากเศษอาหารและเปลือกผลไม้” เพื่อเป็นการอยู่อย่างพอเพียง ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
.
กิจกรรมวันที่สอง (17 กันยายน 2566) เริ่มต้นด้วยเวทีเสวนา ติดตาม และประเมินผลนักบริหารชุมชน และกรรมการหมู่บ้าน หมู่ที่ 5 บ้านมอเก็ต และหมู่ที่ 4 บ้านวังใหญ่ ต.ควนศรี อ.บ้านนาสาร สำหรับพื้นที่หมู่ที่ 5 บ้านมอเก็ต ใช้หลักการพัฒนาชุมชน โดยเน้น “คน” เป็นสำคัญ และพื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านวังใหญ่ ได้นำหลักธรรมนูญสันติสุข 9 ดี ไปขยายผลสู่การจัดทำธรรมนูญหมู่บ้าน ซึ่งเป็นทั้งข้อให้และข้อห้าม อาทิ การขโมยของ ปรับ 10 เท่า ของจำนวนมูลค่าทรัพย์สินที่ขโมย, การไม่รับรองสิทธิ์ให้กับผู้ติดยาเสพติด ซึ่งส่งผลต่อการได้รับสวัสดิการชุมชน และการทิ้งขยะไม่ถูกที่ ฝ่าฝืนปรับ 2,000 บาท เป็นต้น
ทั้งนี้ ผลจากการลงพื้นที่ติดตามและประเมินผลหลักสูตรฯ พบว่า ผู้เรียนได้นำความรู้ไปขยายผลในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ผลลัพธ์ที่ได้ควรมีการต่อยอดหลักสูตรให้กับนักปกครองท้องที่ เพื่อขยายผลต่อไปในอนาคต
ภาพ/ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารและรณรงค์ทางสังคม
#ศูนย์คุณธรรม #ทำดีไม่ต้องเดี๋ยว #คนดีมีพื้นที่ยืน #ความดีมีพื้นที่ในสังคม #กระทรวงวัฒนธรรม
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
🌐 Facebook : ศูนย์คุณธรรม https://www.facebook.com/MoralCenter
🎥 YouTube : Moral Channel https://youtube.com/user/moralcenter