10 สิงหาคม 2566 รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ได้รับเกียรติร่วมอภิปรายและวิทยากรบรรยาย ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การเสพติด Thailand Addiction Scientific Conference (TASC) 2023 และการประชุมประจำปีของสมาคมความร่วมมือทางวิชาการของมหาวิทยาลัยนานาชาติ เพื่อการลดอุปสงค์ต่อยาเสพติด International Consortium of Universities for Drug Demand Reduction (ICUDDR) ณ กรีน นิมมาน สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากนานาประเทศกว่า 200 คน อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น และไทย
โดยกิจกรรมช่วงเช้าของการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การเสพติด เป็นเวทีเสวนาวิชาการหัวข้อ“การเสพติดและเยาวชน” โดยนักวิชาการและหัวหน้าโครงการที่มีการดำเนินงานและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เป็นรูปธรรมทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ คุณประภาพร เชื้อเมืองพาน นักวิชาการสาธารณสุข โรงพยาบาลพญาเม็งราย พญ. ดวงดาว ศรียากูล โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และ Dr.Takuya Shimane จาก สถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรศ.นพ.สุริยเดว ได้รับเกียรติเป็นผู้อภิปรายให้ข้อคิดเห็นต่อการนำเสนอหัวข้อดังกล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนไทยอยู่ในสภาวะสังคมบีบคั้นและปัจจัยกระตุ้น ที่หลากหลาย อาทิ การเปิดเสรีกัญชา ทำให้ปัญหาการเสพติดในกลุ่มดังกล่าวยังคงเป็นปัญหาที่มีอัตราสูงขึ้นและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรับการแก้ไข โดยแนะให้เน้นความสำคัญและส่งเสริมการพัฒนา EF Plus คือ การพัฒนาทักษะทางสมอง (EF) ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะทางปัญญา ให้มีทักษะทางสังคม จิตสาธารณะ และส่งไม้ต่ออย่างเป็นระบบ สร้างเครือข่ายเพื่อนช่วยเพื่อน และมีสอดส่องดูแลป้องกันปัญหาในกลุ่มเยาวชนทั่วไป เพื่อให้เกิดเด็กเยาวชน เก่งและดีได้ตลอดทั้งช่วงวัย รวมถึงแนะให้มีการปลดล๊อกปัญหาในระบบการศึกษาในปัจจุบัน ด้วยการยกระดับพื้นที่ตัวอย่างเป็นเขตนวัตกรรมการศึกษาพิเศษ เพื่อให้ขับเคลื่อนได้อย่างเต็มรูปแบบแและสามารถเห็นผลได้จริงในระดับประเทศ เกิดสังคมคุณธรรมที่มีคนเก่งและดีที่จะช่วยกันพัฒนาประเทศต่อไป
ส่วนกิจกรรมช่วงบ่าย เป็นการประชุมประจำปีของสมาคมความร่วมมือทางวิชาการของมหาวิทยาลัยนานาชาติ เพื่อการลดอุปสงค์ต่อยาเสพติด รศ.นพ.สุริยเดว ได้แบ่งปันองค์ความรู้และการดำเนินงานขับเคลื่อนและป้องกันปัญหายาเสพติดในร่วมกับนักวิจัยและนักวิชาการจาก สหรัฐอเมริกา สโลวีเนีย บอตสวานา และเวียดนาม ภายใต้หัวข้อ “แนวทางการปรับกระบวนทัศน์ งานวิจัยและโครงการการป้องกันการเสพติดในประเทศต่างๆ รวมไปถึงการป้องกันโดยใช้สื่อเป็นหลัก” โดย รศ.นพ.สุริยเดว ได้นำเสนอหัวข้อ “Moral Index and Life Assets Positive Power Development: A National Protection strategy in Human Capital.” ระบุถึงการขับเคลื่อนและส่งเสริมคุณธรรมในประเทศไทย ผ่านเครื่องมือที่จับต้องได้ ได้แก่ ต้นทุนชีวิต (Life Asset) ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดต้นทุนขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการพัฒนาทางด้านจิตใจ สังคม สติปัญญา เป็นปัจจัยเชิงบวกทางด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม ที่จะหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งเจริญเติบโตและดำรงชีพอยู่ในสังคมได้ ซึ่งในปัจจุบันนอกจากในกลุ่มเยาวชนแล้วยังเป็นเครื่องมือที่สามารถวัดต้นทุนชีวิตในระดับผู้ใหญ่ได้อีกด้วย รวมไปถึงเครื่องมือวัดระดับคุณธรรมสังคมไทยในเชิงพื้นที่อย่างดัชนีชี้วัดคุณธรรม (Moral Index) ที่จะเป็นตัวบ่งชี้สถานการณ์คุณธรรมในประเทศไทยและเป็นตัวแปรที่จะสามารถใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาและยกระดับพฤติกรรมดีที่ระบุตามแผนระดับชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพจับต้องได้ ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่จะสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม เพราะนอกจากจะป้องกันปัญหาการเสพติดแล้ว ยังจะช่วยป้องกันปัญหาทางสังคมต่างๆที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เกิดคนดีมีคุณธรรม และสร้างความสงบสุขในสังคม
นอกจากนี้ รศ.นพ.สุริยเดว ยังได้เชิญผู้เข้าร่วมเสวนาจากประเทศต่างๆ ในการร่วมขับเคลื่อนการป้องกันในเชิงบวกเพื่อขยายผลและผลกระทบระดับนานาชาติ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญและทรัพยากรของแต่ละองค์กร เพื่อพิสูจน์ความเป็นไปได้สามารถเกิดผลลัพธ์ได้ในอนาคตต่อไป
ภาพ/ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารและรณรงค์ทางสังคม
#ศูนย์คุณธรรม #ทำดีไม่ต้องเดี๋ยว #กระทรวงวัฒนธรรม
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
???? Facebook : ศูนย์คุณธรรม https://www.facebook.com/MoralCenter
???? YouTube : Moral Channel https://youtube.com/user/moralcenter