ปัจจุบัน สถานการณ์ที่อาจพบได้ในองค์กรต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและการบริหาร คือ สมาชิกในองค์กรขาดการมีส่วนร่วม ต่างคนต่างทำ ขาดความรับผิดชอบในหน้าที่ ขาดแรงบันดาลใจในการทำงาน บรรยากาศการทำงานไม่สร้างสรรค์ ทำให้พนักงานเกิดอาการหมดไฟในการทำงาน ขาดความสุขในการทำงาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กรลดลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไข ด้วยการนำมาตรฐานด้านคุณธรรมเข้ามาพัฒนาองค์กรในมิติคุณธรรมควบคู่กับการควบคุมจริยธรรม
ความแตกต่างของ จริยธรรม และ คุณธรรม
ในระดับบุคคล จริยธรรม คือ “การกระทำ” ที่แสดงออกด้วยการเคารพและปฏิบัติตาม กฎ กติกา ข้อกำหนด กฎเกณฑ์ต่างๆ ส่วน คุณธรรม คือ “พฤตินิสัย” หรือ ลักษณะส่วนบุคคล (Individual characteristic) ที่ทำอย่างสม่ำเสมอ ผ่านกระบวนการคิด การตัดสินใจที่พอเหมาะพอดี
ส่วนระดับองค์กร มีลักษณะที่แตกต่างกันดังนี้
องค์กรที่มีจริยธรรม อาศัยเครื่องมือของการตรวจสอบจริยธรรมเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุง การตรวจสอบจริยธรรมมีฐานคิดร่วมกับการประกันคุณภาพ (quality assurance) โดยมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งจากลูกค้า ผู้ถือหุ้น รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับลูกค้าและผู้สนับสนุนการลงทุน โดยมุ่งที่การควบคุมให้มีความประพฤติปฏิบัติตามหลักการทางจริยธรรม เช่น ประมวลจริยธรรมหรือจรรยาบรรณที่องค์กรกำหนด และมุ่งตรวจสอบเพื่อรับประกันในระดับโครงสร้างขององค์กร ซึ่งครอบคลุมถึงระบบ กลไก และวัฒนธรรมขององค์กร
องค์กรที่มีคุณธรรม เป้าหมายที่มุ่งสู่ความสุขหรือความเจริญงอกงามของสมาชิกในองค์กร และองค์กรอื่นที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วย รวมถึงชุมชนและสังคม โดยเป้าหมายนั้นมาจากการมีส่วนร่วมของสมาชิกที่เห็นพ้องกัน และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพื่อให้องค์กรบรรลุพันธกิจตามเป้าหมาย โดย “ปัญญาเชิงปฏิบัติ” ซึ่งเป็นการพิจารณาเพื่อค้นหาจุดสมดุลที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการกระทำในสถานการณ์เฉพาะแต่ละสถานการณ์ กล่าวคือ การไตร่ตรองอย่างรอบคอบด้วยสมองและหัวใจอย่างสมดุลและถูกต้อง โดยมีพี่เลี้ยงที่เป็นผู้ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาในตัวของผู้รับการฝึกฝน