ศูนย์คุณธรรม ร่วมกับ มูลนิธิธรรมดี นำทีมผู้บริหารสถานศึกษา-หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เดินหน้าสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ตามรอยแม่สร้างงานศิลป์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน – ร่วมเยียวยาชาวบ้านจากอุทกภัย

 

วันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2565 คณะกรรมการและผู้บริหารศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) โดย รองศาสตราจารย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม นางสาวอังคณา ใจกิจสุวรรณ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วมโครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 23” ณ ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง อนุสาวรีย์ขุนรองปลัดชู วัดสี่ร้อย จังหวัดอ่างทอง – พระนครศรีอยุธยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเข้าใจศาสตร์พระราชา และขยายผลต่อยอดนวัตกรรมทางการศึกษา ซึ่งมีกิจกรรม ประกอบด้วย การเรียนรู้การนำศิลปวัฒนธรรมไปใช้เพื่อประโยชน์การพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมทั้งกิจกรรม “ธรรมดีร่วมกัน” มอบถุงยังชีพเยียวยาชาวบ้านอำเภอวิเศษชัยชาญที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา จำนวน 400 ครอบครัว และพิธีบวงสรวงสักการะดวงวิญญาณขุนรองปลัดชู เพื่อน้อมรำลึกถึงความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และความเสียสละต่อประเทศชาติ

 

ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ร่วมบรรยายพิเศษ เรื่อง “คุณธรรมในยุคดิจิทัล” โดยระบุว่า สังคมไทยยังมองเรื่องคุณธรรมเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ ทั้งที่รากฐานของการสร้างคุณธรรมคือการวัดเชิงพฤติกรรมที่สะท้อนผ่านพฤติกรรมที่ดีได้ ซึ่งสังคมไทยยังมีการเลี้ยงดูเด็กแบบเปรียบเทียบ ระบบการศึกษายังเน้นการท่องจำและการแข่งขัน ขาดการพัฒนา competency based และการ coaching ครูผู้สอน เรื่องคุณธรรมแม้ถูกบรรจุเป็นหลักสูตรที่มีเนื้อหาจำนวนมากแต่ไม่สามารถนำไปใช้ให้เกิดการปฏิบัติได้ ดังนั้น จึงเน้นย้ำว่าการทำให้คุณธรรมจับต้องได้ต้องเกิดจากการปฏิบัติให้เป็นวิถีชีวิต (way of life) ให้ได้ โดยยกตัวอย่างแนวทางการพัฒนาคุณธรรมในกระบวนการจัดการเรียนการสอน เช่น การเปลี่ยนกิจกรรม homeroom ให้เป็นกิจกรรมที่ฟังเสียงสะท้อนจากเด็ก (Reflection) ให้มากขึ้นในรูปแบบการตั้งคำถามอย่างง่าย เปลี่ยนกระบวนการทางความคิด (mindset) ด้วยสุนทรียสนทนา การปรับหลักสูตรการสอนคุณธรรมที่เน้นกระบวนการแทรกเข้าไปในวิถีชีวิตประจำวันหรือผ่านกิจกรรมพัฒนาทักษะ Resilience ในสถานการณ์ปัญหาความท้าทายต่าง ๆ

 

“ศูนย์คุณธรรมจึงพัฒนางานให้เรื่องคุณธรรมเป็นนิยามใหม่ ให้เป็นเรื่องที่สัมผัสได้ วัดได้ และกินได้ ด้วยดัชนีชี้วัดคุณธรรมและต้นทุนชีวิต การสร้างระบบพี่เลี้ยงในชุมชนด้วยจิตวิทยาพลังบวก ขณะเดียวกันยังมองไปถึงเรื่องการพัฒนากลไกเครดิตทางสังคม (Social Credit) ที่เน้นการส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวก ควบคู่ไปกับการสร้างแพลตฟอร์มใหม่เพื่อให้การเข้าถึงเรื่องคุณธรรมเป็นเรื่องที่ง่ายและทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก โดยสุดท้ายได้ฝากให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ได้นำองค์ความรู้และวิธีการไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้คุณธรรมเป็นวิถีชีวิต และคุณธรรมเป็นเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainability) ต่อไป”

 

รวมทั้ง นางสาวอังคณา ใจกิจสุวรรณ ผู้แทนคณะกรรมการศูนย์คุณธรรม กล่าวว่า เป็นโอกาสอันดีในการร่วมเรียนรู้และสานต่อองค์ความรู้ศาสตร์พระราชา รวมทั้งการเรียนรู้กิจกรรมของศูนย์ศิลปาชีพฯ ซึ่งเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และการพัฒนาสังคมให้เต็มศักยภาพ ตลอดจนมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง จึงขอให้ทุกฝ่ายได้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อยอดนวัตกรรมศาสตร์พระราชาต่อไป

 

สำหรับโครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา” จัดต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 โดยความร่วมมือจากศูนย์คุณธรรม มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) มูลนิธิธรรมดี กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ และ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)

 


ข่าวโดย : กลุ่มงานนโยบายและยุทธศาสตร์