ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จัดแถลงข่าวเปิดตัวการแข่งขัน Moral Hackathon 2022 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 เวลา 14.00 – 16.00 น. ณ ชั้น 3 สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) โดยมี รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อํานวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เป็นประธานเปิดกิจกรรม และได้รับเกียรติจาก ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานส่งเสริมการประยุกต์ใช้ดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เข้าร่วมการแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย

 

ภายในงานมีกิจกรรม Mini Talks หัวข้อ “ร่วมออกแบบอนาคตสังคมคุณธรรม” โดย รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อํานวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) หรือคุณหมอเดวร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับทีมพี่เลี้ยง (Mentor) ในการแข่งขัน Moral Hackathon ครั้งนี้ ซึ่งประกอบไปด้วย คุณรัชวุฒิ พิชยาพันธ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Fixzy และคุณบีอิ้ง แซ่อัง Data Scientist at Health Tech Start up นักพัฒนา AI ; Visual Computing

 

แนวโน้มในอนาคตของการพัฒนาสังคมคุณธรรมกับนวัตกรรม คุณหมอเดวให้ภาพโลกอนาคตว่าเป็นโลกดิจิทัล โจทย์ที่ท้าทายคือจะอยู่ร่วมกันอย่างไรให้มีความสุข ซึ่งหัวใจสำคัญ คือโลกดิจิทัลต้องเดินควบคู่ไปกับสังคมที่มีคุณธรรม ซึ่งศูนย์คุณธรรมเห็นความสำคัญในจุดนี้จึงร่วมมือกับ depa ในการสร้างสังคมดิจิทัลที่มีคุณธรรมควบคู่กันไป ขณะที่ทีมพี่เลี้ยง คุณรัชวุฒิ ให้ภาพขององค์กรในเรื่องธุรกิจที่มีคุณธรรม ว่าในฐานะ CEO ต้องพัฒนาองค์กรที่เห็นคุณค่าของพนักงาน/แรงงาน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และคุณบีอิ้งให้ภาพในระดับบุคคลที่แต่ละคนต้องยอมรับตนเอง มีความมั่นใจ ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น และต้องมีความสุข ถึงจะเกิดพลังในการสร้างสรรค์นวัตกรรม
สำหรับภาพที่ผู้ร่วมเสวนาทั้ง 3 ท่านอยากเห็นในการแข่งขัน Moral Hackathon ครั้งนี้ คุณบีอิ้ง กล่าวว่าอยากเห็นการแข่งขันที่มีความสุข มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์ คุณรัชวุฒิอยากเห็นผู้เข้าร่วมมีความหวังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคม มีพลังบวก และคุณหมอเดวกล่าวทิ้งท้ายว่าอยากเห็นพลังบวกของคนรุ่นใหม่ การสร้างสิ่งใหม่ ส่งผลผลิตที่ดีให้กับผู้คนในสังคม และสร้างความสุขให้คนในสังคม

 

การแข่งขัน Moral Hackathon 2022 จัดขึ้นภายใต้โจทย์การแข่งขัน “Make A Change : ทุกคนเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน” ร่วมสร้างนวัตกรรม ปลุกพลังบวก เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณา คือ 1. สร้างนวัตกรรมทางสังคม เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนจิตสาธารณะ โดยให้เกิดเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความเปลี่ยนเเปลงทางสังคม 2. เป็นนวัตกรรมที่ส่งเสริมหรือสนับสนุน หรือต่อยอดจากเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (17 SDGs) อย่างน้อย 1 ข้อ และส่งผลในระยะยาวอย่างยั่งยืน และ 3. สามารถนํามาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และสร้างความเปลี่ยนแปลงทางบวกได้มากยิ่งขึ้น ในภาคประชาชน กลุ่มคน หรือสังคม
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ www.moralhackathon.com ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Line @moralhackathon โดยสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2565 ถึง 19 กันยายน 2565

 


 ภาพและข่าวโดย สำนักพัฒนาองค์ความรู้นวัตกรรมและสื่อสารสนเทศ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)