5 สิงหาคม 2565 ณ ห้อง Lotus 7 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม และหัวหน้าชุดแผนงานโครงการวิจัยเรื่อง ชุดแผนงานครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง ได้นำเสนอผลสรุปความสำเร็จของโครงการวิจัย ชุดแผนงานครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
โดยมีภาคีเครือข่ายนำโดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล สำนักงานอัยการสูงสุด มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และยังมีหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญในพื้นที่ซึ่งผลของโครงการวิจัยคือ มีการนำองค์ความรู้และชุดประสบการณ์ของผู้วิจัย ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเด็กและเยาวชน ลงไปสู่การใช้จริงในพื้นที่ปฏิบัติการ เช่น ทุนชีวิตชีวิตพลังบวก, การป้องกันเด็กติดเกม, ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและสิทธิเด็ก, การสร้างวินัยเชิงบวก ทักษะสมอง EF อีกทั้งยังมีการเปิดเวทีให้ความรู้เรื่องกฏหมายครอบครัวและสิทธิเด็ก เพื่อนำความคิดเห็น ข้อเสนอแนะแต่ละเวที มายื่นเสนอแก้ไขกฏหมายด้านครอบครัวและสิทธิเด็กที่บังคับใช้ในปัจจุบันให้ทันสมัย เอื้อประโยชน์ต่อครอบครัว เด็กและเยาวชนได้จริง และที่สำคัญคือเกิดระบบพี่เลี้ยงในชุมชน ก่อเกิดแกนนำและครอบครัวพลังบวก จาก 38 พื้นที่ ใน 13 จังหวัด จำนวน 1,306 คน
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี หัวหน้าชุดแผนงานโครงการวิจัย ยังกล่าวเน้นให้เห็นความสำคัญของระบบ พี่เลี้ยง ที่ปรึกษาในชุมชนด้วยจิตวิทยาเชิงบวก ทำให้เกิดคณะทำงานพัฒนาครอบครัว ที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานครอบครัว ส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ในชุมชน และการแก้ปัญหาเด็กเยาวชนและครอบครัวในพื้นที่วิจัยในการเสริมสร้างป้องกันคุ้มครอง และจัดการความรุนแรงในครอบครัว อีกทั้งยังเกิดระบบการบริหารจัดการกรณีศึกษา การมีความรุนแรงในครอบครัว (ติดเกมรุนแรงในครอบครัวรูปแบบต่างๆ) ร่วมวางแผนเชื่อมโยงกลไกภาครัฐประชาสังคม และได้นำผลการวิจัยโครงการ เข้าสู่งานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติเพื่อให้เกิดกระบวนการ ขยายผลสู่จังหวัดต่างๆ และมีระบบพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
ภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 Thailand Research Expo 2022 ภายใต้หัวข้อ “ครอบครัวพลังบวก : ระบบพี่เลี้ยงในชุมชน (Family Sustainable Development) ภายใต้แนวคิดครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง”ยังได้รับเกียรติจากแกนนำผู้วิจัย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ มาแบ่งปันแนวคิดทางวิชาการในช่วง Family Talk และเปิดคลินิกครอบครัวพลังบวก“ทุกคำถามมีคำตอบ ทุกปัญหามีทางออก” นำโดย รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) แบ่งปันในหัวข้อ ครอบครัวพลังบวก ว่าอยากให้พ่อแม่มีแนวคิดของการจับถูกไม่ใช่จับผิด เพื่อส่งเสริมให้เกิดทุนชีวิตพลังบวกของลูก และต้องรู้จักฟังให้มาก ซึ่งมี 5 ฟังที่สำคัญคือ ฟังด้วยใจ ใช้ใจฟัง, ฟังที่สองคือ เป็นนักฟังที่ดีคือพูดให้น้อย ฟังให้มาก, ฟังที่สามคือรู้จักสะท้อนความรู้สึก, ฟังที่สี่ ไม่มีอคติให้ และสุดท้ายคือ ฟังแล้วเหลาความคิด และทุกวันอย่าลืมว่า “วันนี้ คุณได้จับถูกคนที่คุณรักและคนรอบข้างหรือยัง”
รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล: จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดลได้ให้แนวคิดสำคัญในหัวข้อ เกมสมดุล ชีวิตสมดุล ว่าปัจจุบันเราไม่สามารถไปบังคับเรื่องการเล่นเกมของเด็กได้ เราอย่าไปมองว่าเกมเป็นศัตรู อย่าไปขัดขวางการเข้าถึงเกมของเด็ก เพราะมันเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่เราควรจะปลูกฝัง สิ่งที่เราควรจะป้องกันก็คือ ให้เขาเล่นเกมอย่างชาญฉลาด เล่นอย่างรู้เท่าทัน เล่นเกมอย่างที่พวกเขาเป็นผู้เล่นเกม ไม่ใช่เกมเล่นพวกเขา ซึ่งจะทำให้เกิดเกมสมดุล และชีวิตก็จะสมดุล
ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการ พัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล แบ่งปันในหัวข้อ การสร้างวินัยเชิงบวก เทคนิคที่สำคัญคือ “ปลอบก่อน สอนทีหลัง ฟังให้มาก ชื่นชมให้บ่อย” ทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จะมี 2 อย่างเกิดขึ้นเสมอ สิ่งแรก คืออารมณ์ลูกของเรา กับสิ่งที่สอง คือความเป็นจริงของสถานการณ์ ว่าด้วยเรื่องถูกผิด ควรมิควร ทุกครั้งที่สถานการณ์เกิดขึ้น อยากให้เรา“ไปที่อารมณ์ลูกก่อนเสมอ”ก่อนที่จะไปเรื่องถูกผิด ควรไม่ควร คุณพ่อคุณแม่ต้องดูจังหวะที่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้จักชมเพื่อสร้างตัวตนของลูกที่มีคุณค่า และพ่อแม่ ไม่ใช่ผู้ปกครอง แต่เป็น ผู้ประคอง
และสุดท้ายในหัวข้อ ความรุนแรงในครอบครัวกับการรื้อถอนมายาคติสังคม โดย ผศ.ดร.ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา มจร. ได้ตอกย้ำว่า วันนี้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องในครอบครัวอีกต่อไป เป็นเรื่องที่คนไทย สังคมไทยต้องพึงตระหนัก และมาร่วมกันรับผิดชอบ
สามารถติดตามโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์ศูนย์คุณธรรม https://www.moralcenter.or.th/family/ และสามารถชม มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ครอบครัวพลังบวก; ระบบพี่เลี้ยงในชุมชน (Family Sustainable Development) ภายใต้แนวคิดครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง ย้อนหลังได้ ทาง facebook ศูนย์คุณธรรม