3 สิงหาคม 2565 กลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมและระบบพฤติกรรมไทย โดย นางสาวลักษิกา เงาะเศษ นักวิชาการ ร่วมนำเสนอผลการวิจัยทุนชีวิตเด็กและเยาวชนไทยปี 2564 ในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo & Symposium 2022) ในกลุ่มเรื่องการวิจัยด้านสังคม คุณภาพชีวิต และความมั่นคง (1) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนแวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ 

 

การสำรวจสถานการณ์ทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนไทย ปี 2564 มีกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 10,613 คน อายุระหว่าง 12-18 ปี ใน 6 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยเครื่องมือที่ใช้ คือแบบสำรวจทุนชีวิตเด็กและเยาวชนไทยที่พัฒนาโดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น


ผลสำรวจพบว่า พลังตัวตน มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด 70.23 ซึ่งผ่านเกณฑ์ในระดับดี รองลงมาคือ พลังครอบครัว ค่าเฉลี่ย 68.91 ซึ่งผ่านเกณฑ์ในระดับปานกลาง พลังเพื่อนและกิจกรรม ค่าเฉลี่ย 62.62 ซึ่งผ่านเกณฑ์ในระดับปานกลาง พลังสร้างปัญญา ค่าเฉลี่ย 60.98 ซึ่งผ่านเกณฑ์ในระดับปานกลาง และพลังชุมชน ค่าเฉลี่ย 47.76 ซึ่งไม่ผ่านเกณฑ์ ตามลำดับ ซึ่งกระบวนการสำคัญที่จะหนุนเสริมพลังชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น คือระบบพี่เลี้ยงชุมชน


ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เข้าร่วมประชุมได้ชื่นชมงานทุนชีวิตที่มีการสำรวจมาอย่างต่อเนื่อง ว่าเป็นจุดแข็งเพราะมีข้อมูลเปรียบเทียบให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง และได้ให้ความสนใจกับระบบพี่เลี้ยงชุมชน ในฐานะที่เป็นกระบวนการหนุนเสริมพลังของชุมชน รวมทั้งได้ร่วมแลกเปลี่ยนและให้ข้อเสนอแนะสำหรับการศึกษาในระยะต่อไปว่า ควรจะศึกษาเรื่องชุมชนในมุมมองของเด็กและวัยรุ่น ซึ่งความเป็นชุมชนน่าจะเปลี่ยนแปลงชัดเจนขึ้นหลังสถานการณ์โควิด และควรเพิ่มสัดส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพควบคู่ไปด้วย


บทความที่นำเสนอในมหกรรมงานวิจัยครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนไทย 6 ภูมิภาค ประจำปี 2564 ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมและระบบพฤติกรรมไทย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และภาคีวิชาการ คือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี


ภาพและข่าว : กลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมและระบบพฤติกรรมไทย