22 มิถุนายน 2565 ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) โดยกลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมและระบบพฤติกรรมไทย จัดประชุมออนไลน์ “การประเมินเพื่อการพัฒนา (Developmental Evaluation) กับการพัฒนากระบวนการรับรององค์กรส่งเสริมคุณธรรม 

 

การประชุมเริ่มจาก รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ให้ภาพงานพัฒนากระบวนการรับรององค์กรส่งเสริมคุณธรรมว่า ให้ความสำคัญกับบริบทขององค์กร (tailor-made) เป็นการประเมินหรือรับรองที่สร้างแรงจูงใจเชิงบวก (positive motivation) เน้นเสริมพลังให้ผู้รับการประเมินและองค์กรเกิดการพัฒนาเรื่องคุณธรรมภายใต้บริบทของตนเอง หลังจากนั้น ดร.ชาญชัย ชัยสุขโกศล และคณะนักวิจัยโครงการศึกษาและทดลองดำเนินงานกระบวนการรับรององค์กรส่งเสริมคุณธรรม นำเสนอถึงการพัฒนากระบวนการรับรองด้วยแนวคิดองค์กร 5 สี ที่ประยุกต์จากหนังสือ Reinventing organization

 

จากนั้นเป็นการบรรยายเรื่อง “แนวคิดการประเมินเพื่อการพัฒนา (Developmental Evaluation)” โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เริ่มจาก 5 ปัจจัยสำคัญของ Developmental Evaluation หรือ DE ว่าประกอบไปด้วย 1. ต้องมี common purpose หรือเป้าหมายร่วม 2. ต้องมีข้อมูลหรือผลประเมินที่ตรงเป้า แม่นยำ 3. ต้องมี stakeholders หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ครบถ้วน เอาจริงเอาจังที่จะเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน 4. ใช้ dialogue หรือกระบวนการสุนทรียเสวนาในการพูดคุย 5. ต้องมีผู้ประเมินที่เป็น facilitator ของกระบวนการ dialogue หัวใจของ DE คือ การให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) ได้มาทำกิจกรรมร่วมกันอย่างจริงจัง โดยร่วมกำหนดเป้าของกิจกรรม กำหนดข้อมูลที่ต้องการ กำหนดวิธีการเก็บข้อมูล กำหนดวิธีการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล ร่วมกันตีความหรือหาความหมายจากหลายมุมมอง จากนั้นจึงนำผลหรือข้อตกลงไปใช้ในการดำเนินกิจกรรมภายใต้บริบทของตน บทบาทของ DE จึงเป็นเครื่องมือเอื้อการเรียนรู้ ซึ่งเปรียบเสมือนการเดินทางที่ไม่สิ้นสุด (never ending journey) โดยเป้าหมายที่แท้จริงของ DE คือการนำสิ่งที่ผุดบังเกิด (Emergent) ท่ามกลางความซับซ้อนมาทำให้เกิดคุณค่า

 

ช่วงท้ายของการบรรยายเป็นการซักถามและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่ง ศ.นพ.วิจารณ์ ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อการนำแนวคิด DE มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการรับรององค์กรส่งเสริมคุณธรรมว่า 1. ควรทำงานร่วมกับองค์กรนำร่องโดยนำเรื่อง DE เข้าไปหนุนให้เกิดการพูดคุยกันภายในองค์กรนำร่อง 2. สร้างวงจรของการเรียนรู้ (Loop learning) ทั้งในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้ตรวจประเมิน และ 3. ให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ในแนวราบ (horizontal relationship) มากกว่าความสัมพันธ์ในแนวดิ่ง (vertical relationship)

 

 


ภาพและข่าว: กลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมและระบบพฤติกรรมไทย