ศูนย์คุณธรรม พัฒนา “ดัชนีชี้วัดสถานการณ์คุณธรรม” เป็นครั้งแรกในประเทศไทย พบ คุณธรรมด้านมีวินัยรับผิดชอบ – สุจริต ในกลุ่มวัยทำงานมีประเด็นที่น่าห่วงใย ขณะที่ทุนชีวิตสะท้อนพลังบวกของเด็ก และเยาวชนไทยอ่อนแอลงทุกปี โดยเฉพาะ “พลังชุมชน” หรือจิตสำนึกสาธารณะที่อ่อนแอมาก ถึงขั้นไม่ผ่านเกณฑ์

 

            วันที่ 22 ธันวาคม 2564 ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) แถลงข่าว “สถานการณ์คุณธรรมสังคมไทย ประจำปี 2564” โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า
ศูนย์คุณธรรม ได้พัฒนาเครื่องมือและสำรวจสถานการณ์คุณธรรมด้วยตัวชี้วัดคุณธรรมของคนไทยวัยทำงาน ช่วงอายุ 25-40 ปี
ใน 5 ด้าน คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู กับกลุ่มเป้าหมาย 6 กลุ่มสาขาอาชีพ ได้แก่ เกษตร รับราชการ/พนักงานราชการ เอกชน รัฐวิสาหากิจ รับจ้างทั่วไป และธุรกิจส่วนตัว/อิสระ และได้จัดทำรายงานสถานการณ์คุณธรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2564 มีการสำรวจสถานการณ์ต้นทุนชีวิต (Life Asset) ของเด็กและเยาวชนไทย ช่วงอายุ 12-18 ปี ด้วยแบบสำรวจต้นทุนชีวิต ซึ่งประกอบไปด้วย 5 พลัง คือ พลังตัวตน พลังครอบครัว พลังสร้างปัญญา พลังเพื่อนและกิจกรรม และพลังชุมชน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่สำรวจทั้งหมด จาก 6 ภูมิภาค ประกอบไปด้วย ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

          โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กล่าวว่า ในเรื่องของทุนชีวิตเป็นการวัดระบบนิเวศน์ของพลังบวก ซึ่งหมายถึง ระบบนิเวศน์หรือสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กมีพลังบวกที่ทำให้เป็นคนเก่งและแกร่ง รวมทั้งเป็นการฟังเสียงสะท้อนของเด็กและเยาวชนกับสภาวะแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กเกิดพลังบวก โดยผลการสำรวจต้นทุนชีวิต/ทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนไทย ช่วงอายุ 12-18 ปี จากกลุ่มตัวอย่างกว่า 10,000 คน พบ “พลังชุมชน (เรื่องของจิตสำนึกสาธารณะ)” เป็นอีกด้านหนึ่งของประเทศไทยในวงกว้างที่น่าห่วงมากๆ โดยในปี 2552 อยู่ที่ 64.04%, ปี 2562 อยู่ที่ 53.84% และปี 2564 ลดลงมาที่ 47.76% ซึ่งอ่อนแอลงมาก      ถึงขั้นไม่ผ่านเกณฑ์ ขณะที่ “พลังครอบครัว” ก็ยังน่าห่วงใย เนื่องจากพบว่าคะแนนมีแนวโน้มลดลงทุกปี   จากเดิม 10 ปีที่แล้วอยู่ในระดับดี อย่างในปี 2552 อยู่ที่ 76.50%, ปี 2562 อยู่ที่ 73.64% แต่ในปี 2564 อยู่ที่ 68.91% ซึ่งเป็นระดับพอใช้ โดยจากผลสำรวจพลังด้านอื่นๆ ในภาพรวมก็มีแนวโน้มที่ลดลงเรื่อย ๆ เช่นกัน ซึ่งกำลังสะท้อนให้เห็นว่า สภาพแวดล้อม และเสียงสะท้อนของเด็กและเยาวชนบนสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดพลังบวก กำลังเป็นประเด็นที่จะต้องได้รับการ “มุ่งเน้น พัฒนา” อย่างจริงจัง

          รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการสำรวจสถานการณ์คุณธรรมด้วยตัวชี้วัดคุณธรรมของคนไทยวัยทำงาน ช่วงอายุ 25-40 ปี ด้วยเครื่องมือที่ศูนย์คุณธรรมได้พัฒนาเป็นเครื่องมือแรกในประเทศไทย โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างประมาณ 8,000 คน 6 ภูมิภาค 6 สาขาอาชีพ ผลสำรวจออกมายังอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ คือ ในระดับที่ดี ซึ่งเป็นเสียงของประชาชนที่สะท้อนออกมา จากผลสำรวจ พบค่าเฉลี่ยคุณธรรมของกลุ่มตัวอย่าง (จากค่าเฉลี่ยเต็ม 6.00) พบว่า ด้านความมีวินัยรับผิดชอบ เป็นค่าเฉลี่ยที่ต่ำที่สุด คือ อยู่ที่ค่าเฉลี่ย 4.18, ด้านสุจริต ค่าเฉลี่ย 4.49, ด้านความพอเพียง ค่าเฉลี่ย 4.61 และ ด้านจิตสาธารณะ ค่าเฉลี่ย 4.77 ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาตัวบ่งชี้/องค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดของคุณธรรมแต่ละด้าน พบว่า ด้านความกตัญญู เรื่อง การเคารพความดี ค่าเฉลี่ยที่ 4.94, ด้านจิตสาธารณะ เรื่อง มีจิตอาสา ค่าเฉลี่ยที่ 4.44, ด้านความพอเพียง เรื่อง ความมีเหตุผล ค่าเฉลี่ยที่ 4.54, ด้านสุจริต เรื่อง การยืนหยัดในความถูกต้อง ค่าเฉลี่ยที่ 4.19 และด้านมีวินัยรับผิดชอบ เรื่อง การควบคุมตนเอง ค่าเฉลี่ยที่ 4.00

“ทั้งต้นทุนชีวิต และดัชนีชี้วัดคุณธรรมในสถานการณ์คุณธรรมที่ปรากฏอยู่นี้ กำลังสะท้อนให้เห็นเรื่องของกระบวนการในการพัฒนาวิถีชีวิตแห่งคุณธรรม โดยไม่อยากให้ใช้คำว่า “ปลูกฝังคุณธรรม” เพราะการปลูกฝังคุณธรรม เป็นการเน้นเฉพาะแค่ตัวเด็ก แต่ขณะที่เสียงของเด็กสะท้อนให้เห็นชัดเลยว่าระบบนิเวศน์นั้นเอง ก็มีปัญหาหนัก ไม่สามารถที่จะเป็นต้นแบบที่ดีได้ ฉะนั้น ศูนย์คุณธรรม จึงขอเสนอ แทนที่จะใช้คำว่า “ปลูกฝังคุณธรรม” ก็ให้ใช้เป็นคำว่า “วิถีชีวิตแห่งคุณธรรม” ซึ่งหมายความว่า ระบบนิเวศน์จะต้องทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับเรื่องของการพัฒนาคุณธรรม ทั้งในผู้ใหญ่และในเด็กควบคู่กันไป” รศ.นพ.สุริยเดว กล่าว


ข่าวโดย กลุ่มงานสื่อสารและรณรงค์ทางสังคม ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)