วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 เวลา 18.30 - 21.00 น. ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมจัดเสวนา ครอบครัวพลังบวก Live EP1 หัวข้อ “สิทธิของเด็ก ที่พ่อแม่ยุคปัจจุบันควรรู้” โดยร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สำนักอัยการสูงสุด องค์กรทำดี สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย

 

โดยมีวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยน ได้แก่ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร., รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม, คุณโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการปราบปรามทุจริตภาค 9, ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ประธานองค์กรทำดี, คุณธนวัฒน์ พรหมโชติ ผู้ช่วยประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา มจร.
.
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร. กล่าวว่า ครอบครัวถือเป็นรากฐานที่สำคัญในการผลิตเด็กคนหนึ่งให้ลืมตาดูโลก ซึ่งไม่ได้แค่ให้พื้นที่และร่างกายเท่านั้น แต่ครอบครัวยังมีพันธกิจต่อเนื่องในการพัฒนาลูกของตัวเองในฐานะที่เป็นพ่อแม่ ในการกล่อมเกลาก่อนที่จะส่งมอบให้กับโรงเรียน ชุมชน หรือสังคม โดยหน้าที่การดูแลลูกตามมิติในทางพุทธศาสนา มี 4 ข้อ คือ 1. การสร้างระบบนิเวศน์ที่ดี พัฒนาสภาพแวดล้อม ให้เด็กอยู่ในระบบนิเวศน์ที่ดี 2. พัฒนาพฤติกรรมของลูก 3. พัฒนาความฉลาดทางอารมรณ์ และ 4. พัฒนาเรื่องปัญญา ที่สามารถมองแยกแยะได้ว่า อะไรควรไม่ควร เหมาะไม่เหมาะ ซึ่งหากพ่อแม่ทำหน้าที่เหล่านี้ได้อย่างเต็มกำลังและมีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะทำให้ผลผลิตที่ออกมานั้นอยู่ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ทุกวันนี้จะพบว่าความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นประมาณ 4 รายต่อวัน ในขณะที่เด็กฆ่าตัวตายสำเร็จ 2 รายต่อวัน โดยสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กแบ่งเป็น 4 เรื่อง คือ 1. การทารุณกรรมด้านร่างกาย 2. ทำให้เจ็บปวดใจ และทำให้เกิดปัญหาทางด้านอารมณ์ 3. ทางด้านสังคม ซึ่งโลกแห่งไซเบอร์บูลลี่ ทำให้เด็กอยู่ร่วมกับสังคมไม่ได้ และ 4. เรื่องราวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิเด็ก ซึ่งในประเด็นสิทธิเด็ก ก็มักมีความเชื่อมโยงกับเรื่องของพัฒนาการทางเพศของเด็ก ซึ่งบางครั้ง พ่อแม่ หรือแม้แต่ครูส่วนใหญ่ที่สอนในห้องเรียนอาจเผลอพรั้งหลุดปากไปโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ ละคร หรือข่าวในบ้านเราก็มีส่วนสำคัญเช่นกันต่อการเรียนรู้พัฒนาการของเด็ก หรือสภาวะทางอารมณ์ของเด็กแต่ละคน โดยพ่อแม่ หรือครู สามารถหยิบยกประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากละคร หรือข่าวที่เกิดขึ้นในกระแสสังคมมาเป็นกรณีศึกษาร่วมพูดคุยกับเด็กได้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ไปด้วยกัน ด้วยเทคนิคเหลาความคิด 3 คำถาม คือ 1 รู้สึกอย่างไร 2. คิดเห็นอย่างไร 3. ถ้าเจอแบบนี้จะทำอย่างไร แก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งหากครู ครอบครัวใช้เทคนิคเหล่านี้ จะสอนให้เด็กได้รู้อย่างเท่าทัน และถือเป็นการได้เรียนรู้เด็กไปด้วย
.
คุณโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการปราบปรามทุจริตภาค 9 ยกตัวอย่าง กฎหมายคุ้มครองเด็ก ที่อยากให้พ่อแม่หรือผู้ปกครอง ตระหนักรู้ และระมัดระวัง ยกตัวอย่าง กฎหมายอาญา ระบุไว้ว่า ผู้ใดทอดทิ้งเด็กอายุยังไม่เกิน 9 ปีไว้ ณ ที่ใดเพื่อให้เด็กนั้นพ้นไปเสียจากตน โดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือในกฎหมายแพร่ง ยกตัวอย่าง บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ โดยหากไม่ปฏิบัติตามอาจจะมีการดำเนินคดี เรียกค่าเสียหาย ฟ้องร้องได้ เพราะถือเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย หรือแม้กระทั่งบุตรเอง หากบรรลุนิติภาวะไปแล้ว แต่กรณีที่ลูกเราถ้าไม่ปกติ หรือไม่สมประกอบ บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร ซึ่งบรรลุนิติภาวะไปแล้ว แต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ เป็นต้น โดยคุณโกศลวัฒน์ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า กระบวนการที่เราจะคุ้มครองเด็กให้เด็กหลุดพ้นจากความรุนแรง และเราไม่ต้องรับกรรมในการละเมิดกฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก หากตระหนักรู้กฎหมาย ซึ่งอาจจะเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ เพื่อจะได้ไม่ทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิเด็ก
.
ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ประธานองค์กรทำดี กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กในยุคปัจจุบันไม่ใช่เพียงเรื่องของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง หรือเป็นเรื่องที่พ่อแม่ของแต่ละครอบครัวจะต้องรับผิดชอบเท่านั้น อย่ามองว่าเป็นปัญหาของคนอื่น เราไม่ควรไปยุ่งครอบครัวคนอื่น เพราะเรื่องสิทธิเด็ก เป็นเรื่องของทุกคน ดังนั้น อยากได้ความร่วมมือจากทุกคนและไม่นิ่งนอนใจกับเรื่องพวกนี้ต่อไป
.
คุณธนวัฒน์ พรหมโชติ ผู้ช่วยประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวในประเด็นของการสื่อสารเชิงบวก รวมถึงผู้รับสารเองสามารถไตร่ตรอง รู้เท่าทันสื่อ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทักษะที่จะทำให้ผู้ปกครอง ตัวเด็กและเยาวชนเอง ออกห่างจากความรุนแรงและโซเชียลได้ดี ซึ่งการรู้เท่าทันสื่อมีความสำคัญมากสำหรับสังคม จึงอยากให้เด็กทุกคน รู้เท่าทันในทุกเรื่อง ทุกเหตุการณ์ และรู้จักตัวเอง เพราะต้องเริ่มจากตัวเองก่อน แล้วจึงจะสามารถกลั่นกรอง และมีสติได้กับทุกๆ พฤติกรรม โดยที่จะไม่เป็นคนหนึ่งที่ส่งต่อความรุนแรง
.
ผศ.ดร.ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา มจร. ได้กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า เรื่องของครอบครัวไม่ใช่แค่เรื่องของใครบางคน หรือแค่เฉพาะเรื่องของคนในครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของสังคมที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ ถ้าวันนี้เราสามารถยุติความรุนแรงในครอบครัวได้ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันเพิ่มพื้นที่พลังบวกให้กับสังคม จึงอยากให้พ่อแม่/ผู้ปกครอง พึงรู้หลัก "5 ร." (5 รู้) คือ 1. รู้เรื่องสิทธิ 2.รู้หน้าที่ 3.รู้วิธีการสื่อสารและแสดงออก 4.รู้จักปกป้อง และ 5.รู้ที่จะไม่นิ่งเฉยกับความรุนแรง
.
สำหรับการจัดเสวนา ครอบครัวพลังบวก Live มีทั้งหมด 4 ครั้ง/EP โดยครั้งนี้จัดเป็น EP แรก และสำหรับ EP. 2 หัวข้อ “เด็กติดเกม” วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 เวลา 19.30-21.00 น., EP 3 หัวข้อ “การสื่อสารพลังบวก” วันที่ 8 ธันวาคม 2564 เวลา 18.00-21.00 น. และ EP 4 หัวข้อ “กลเม็ดคดีเด็ด ในครอบครัว” วันที่ 22 ธันวาคม 2564 เวลา 18.00-21.00 น. โดยสามารถติดตามรับชมได้ทาง เฟซบุ๊กไลฟ์เพจศูนย์คุณธรรม Moral Center Thailand

 


เขียนข่าวและถ่ายภาพ : กลุ่มงานส่งเสริมคุณธรรมเครือข่ายทางสังคม