วันที่ 17 ตุลาคม 2564 เวลา 13.30 - 17.00 น. ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมกับ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกลุ่มกัลยาณมิตร

 

เพื่อการเสริมสร้างเครือข่ายวิถีพุทธ (กคพ.) จัดการปัจฉิมนิเทศหลักสูตรอบรมครูออนไลน์ (Online) หลักสูตร “พัฒนาครูโครงงานคุณธรรม” รุ่นที่ 3 ประจำปีงบประมาณ 2564 ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom) และร่วมเสวนา หัวข้อ "เรียนรู้อย่างไรให้ ‘มุ่งสู่เป้า เข้าถึงแก่น’ โครงงานคุณธรรม" (จากกรณีศึกษา) แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนจากหลักสูตรฯ รวมถึงการติดตามประเมินผลการการฝึกอบรมฯ เพื่อรับใบวุฒิบัตรในการเลื่อนวิทยฐานะ จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ 1. พระอาจารย์วชิระ สุปภาโส (กคพ.) 2. อาจารย์พงศ์นรินทร์ มนต์บุญเลี้ยง (กคพ.) 3. ดร.บรรเจอดพร สู่แสนสุข รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สพฐ.) และ 4. คุณสุขุมาล มลิวัลย์ หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมคุณธรรมเครือข่ายทางสังคม ศูนย์คุณธรรม ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยครูในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ จำนวน 145 คน

ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมรับฟังสรุปการถอดบทเรียนจากตัวแทนครู และกล่าวปิดการปัจฉิมนิเทศฯ กล่าวชื่นชมคณะวิทยากร และครู พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไป ดังนี้

1. การได้รับการฝึกอบรมในหลักสูตรฯ จะเห็นได้ว่าทำให้ครูสามารถเปิดโลกทัศน์และยังสามารถเปลี่ยนวิธีการคิดของตนเองได้เป็นอย่างดี จากกระบวนการสอนของวิทยากร

2. หลักสูตรฯ ทำให้ทั้งครูและนักเรียนสามารถฝึกกระบวนการคิด และการลงมือทำอย่างเป็นระบบมากขึ้น เช่น เดียวกับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ อีกทั้งยังสามารถช่วยเสริมสร้างสมรรถนะในการปฏิบัติงานได้ (Logical Thinking)

3. จากกระบวนการของหลักสูตรฯ ทำให้ครูและนักเรียนเกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งมีความท้าทาย และไม่ได้เป็นการชี้นำเพื่อให้ได้ผลลัพท์ตามที่ครูต้องการ

4. ครูได้ทำหน้าที่โค้ช (Coaching) และผู้ที่สามารถนำกลุ่มให้ไปถึงเป้าหมาย (Facilitator) ได้เอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะร่วมกันให้นักเรียนหรือกลุ่มประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี

5. ครูสามารถเป็นตัวอย่างด้านคุณธรรมให้แก่นักเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้นักเรียนเห็นและนำไปปฏิบัติเองได้

6. การเกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างครูและนักเรียน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แสดงความคิดเห็นร่วมกันโดยปราศจากความคิดเชิงลบ และเป็นห้องแห่งการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเปิดกว้าง

7. ครูสามารถปรับกระบวนการคิด กระบวนการปฏิบัติงานให้มีความสอดคล้องกับการจัดการปัญหา และสิ่งแวดล้อมได้ดี จากการคิดเชิงระบบและมีตรรกะ ทั้งนี้ ยังส่งผลถึงนักเรียนสามารถมีความคิดเชิงระบบที่สามารถบริหารจัดการ ตนเอง ชุมชน และสังคมด้วยตนเองได้ในอนาคต

8. หลักสูตรฯ เป็นการบูรณาการระหว่าง “ศาสตร์” และ “ศิลป์” ที่สามารถเชื่อมโยงและปรับใช้ร่วมกันได้อย่างดี อีกทั้งยังทำให้เกิดคุณธรรมในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถกล่าวได้ว่า “คุณธรรมเป็นวิถีแห่งชีวิต ที่เป็นรูปธรรม”

สำหรับกระบวนการถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ ได้กำหนด 3 คำถาม คือ 1. คุณครูมีความรู้สึกต่อการอบรมครั้งนี้อย่างไร 2. คุณครูได้เรียนรู้ หรือ เกิดการเปลี่ยนแปลงในตนเองอย่างไร 3. หลักจากจบหลักสูตรนี้แล้ว จะนำโครงการคุณธรรมไปใช้ทำงานต่อไปได้หรือไม่ อย่างไร ซึ่งเสียงตอบรับส่วนใหญ่ออกมาในมุมบวก ทั้งครูและผู้ปฏิบัติด้านอื่น ๆ สามารถนำไปใช้ได้ในทุกงาน และทุกสถานการณ์ อย่างในคาบ Home Room ของโรงเรียนหลังเลิกเรียน เพื่อเป็นการฟังเสียงของนักเรียนในการแลกเปลี่ยนความคิด สะท้อนความรู้สึก รวมไปถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ทำและพบใน 1 วัน หรือ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา (โดยไม่มีถูก - ผิด) เป็นต้น


ข่าวโดย : กลุ่มงานส่งเสริมคุณธรรมเครือข่ายทางสังคม ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)