19 สิงหาคม 2564 ศูนย์คุณธรรม จัดประชุมวิชาการคุณธรรมในพื้นที่ทางสังคม (ออนไลน์) ครั้งที่ 2 หัวข้อ “จิตสาธารณะ กับการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคม” ผ่านทาง Facebook Live Moral Spaces ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

 

โดยแบ่งเป็น 2 Session : Session 1 “จิตสาธารณะและนวัตกรรมทางสังคม : การตั้งรับ & ปรับตัวในสถานการณ์โควิด” และ Session 2 “นวัตกรรมทางสังคม : เครื่องมือในการขับเคลื่อนจิตสำนึกสาธารณะ”


คุณนิธิกร บุญยกุลเจริญ ทีมพัฒนา Website Emergency Alert (บจก. เมตามีเดีย เทคโนโลยี) และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการดิจิทัลวิถีใหม่ (Digital New Normal) กล่าวว่า ช่วงแรกที่โควิดระบาดในประเทศไทย บ้านเรายังไม่รู้แม้กระทั่งตัวเลขผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นปัญหาของสังคมว่าจะรับมือกันอย่างไร ตอนนั้นรู้สึกเพียงว่าเราคือเอกชนที่มีทีมจิตอาสา จึงได้หารือกับทีมและไปดึงข้อมูล Open data ภาพของโควิด จัดทำเป็นเว็บไซต์โดยใช้เทคโนโลยีง่ายๆ อย่าง GPS คือเอาตัวพิกัดโรงพยาบาลมาพลอทกับแผนที่ ซึ่งคนจะรู้ได้ทันทีว่าเมื่อมีโควิดเกิดขึ้นจะไปตรวจโควิดได้ที่ไหนบ้าง ซึ่งตอนที่ทำ มองเพียงว่า 1. ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ คนไม่รับรู้เรื่องของการติดเชื้อ 2. เรามีความรู้ด้านแผนที่จึงทำขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือประชาชน มันคือนวัตกรรมทางสังคมที่ไม่ได้รายได้จากตรงนี้ เพียงแต่แบบนี้จะต้องมีในสังคม และโดยเฉพาะช่วงนี้จะพบว่า มีคนที่เขาเป็น Active Citizen เกิดขึ้นเยอะมากๆ เวลาที่จะทำอะไรบางอย่างออกสู่สังคม พอต้องการกำลังสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวิศวกรรมซอฟต์แวร์ หรือนักพัฒนาเว็บไซต์ฝีมือดีๆ จะเข้าร่วมสนับสนุนมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งจะเห็นว่าตอนนี้หลายคนตื่นตัวกับเหตุการณ์บ้านเมือง และต้องการใช้ทักษะที่มีอยู่ในมือมาช่วยกันพัฒนา


คุณนิธิกร กล่าวอีกว่า ในระบบหรือแพลตฟอร์มหนึ่ง ๆ สิ่งที่เห็นจะไม่ใช่แค่ Developer นักพัฒนาเว็บไซต์ทำเพียงคนเดียว หลังบ้านยังมี UX UI ดีไซน์เนอร์ออกแบบการแสดงผล มีคนทำหน้าที่ในเรื่องของประชาสัมพันธ์ให้ไปสู่โซเชียลมีเดีย ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมกับระบบหรือแพลตฟอร์มนั้นๆ แม้เทคโนโลยีจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นวัตกรรมไปได้ไกลและไปได้เร็วก็ตาม แต่ก็ต้องมีความหลากหลายของศาสตร์เข้ามาร่วมด้วย ดังนั้น นวัตกรรมทางสังคมในอนาคต คงจะเป็นการ connect the dots คือการต่อจุดของหลายๆ คนขึ้นมา เป็นภาพใหม่ที่ร่วมกันวาดสังคมของเราให้เป็นไปในอีกรูปแบบหนึ่ง จึงอยากให้ใครที่มีไอเดีย มีความคิดแล้วรู้สึกว่าเจอปัญหาอะไรก็แล้วแต่ ถ้าทำได้ อยากให้ทำออกมาเลย แล้วสังคมพิสูจน์อีกทีว่าสิ่งที่เราทำถูกหรือไม่ก็รับคมกันไป


คุณธเนศ ศิรินุมาศ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และประสานงานต่างประเทศ สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI : เครือข่ายนวัตกรรมคนรุ่นใหม่) กล่าวถึง SYSI เปรียบเสมือนศูนย์บ่มเพาะที่สนับสนุน 4 ด้าน คือ  1. สนับสนุนทุน ซึ่งตอนนี้มีองค์กรเกี่ยวกับ NGOs ที่เชื่อมกับภาครัฐ ให้ทุนกับเด็ก ๆ ในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมมากขึ้น 2. ให้ความรู้ ไม่ใช่ให้ความรู้ในมุมของวิธีการอย่างเดียว แต่ต้องพาไปเรียนรู้สังคมลึก ๆ ด้วยว่าเป็นอย่างไร 3. เป็นพี่เลี้ยง ติดตามเด็ก ทั้งชีวิตและสภาพจิตใจ ซึ่งจะดูแต่นวัตกรรมอย่างเดียวไม่ได้ ต้องหันมาสนใจตัวคนด้วย และ 4. เป็นเครือข่าย และให้ Network คือ พยายามเรียนรู้ อย่างมีคอนเซป การเปิดพื้นที่ให้คนต่างพื้นที่ ต่างประเด็นมาเรียนรู้เชื่อมโยงกัน เพื่อให้ได้พบช่องทางใหม่ ว่าจะทำอะไรร่วมกันได้ ซึ่งจากที่ได้ทำงานและพูดคุยกับน้องๆ ในหลายๆ ทีม มีความรู้สึกเหมือนกันว่าบุคคลเหล่านี้ เขาคือพลเมืองโลก (Global Citizen) ไปแล้ว เขาไม่ได้รู้สึกว่าชีวิตจะต้องยึดโยงกับประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่มองประเด็นปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงกันไปหมด


คุณธเนศ กล่าวถึงตัวอย่างนวัตกรรมทางสังคมในช่วงที่โควิดมาใหม่ ๆ พบว่า ยังไม่มีนโยบายหรือกลไกอะไรที่ไปทำกับภาคการศึกษา อย่างโรงเรียน จึงไปจับมือกับสภาพัฒน์ฯ สอนเด็กให้รู้จักโรคระบาด โดยสร้างนวัตกรรมขึ้นมาเป็นแพลตฟอร์ม มีเกมและความรู้ให้เด็กได้เรียนรู้ว่าโรคระบาดเป็นอย่างไร และอีกโปรเจคส่วนตัว คือ ทำสติ๊กเกอร์สวัสดีวันจันทร์พร้อมกับข้อความการสื่อสารง่ายๆ เกี่ยวกับการให้ความรู้เกี่ยวกับโควิด เพื่อส่งไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ใหญ่และผู้สูงวัย ด้วยการกระจายไปยังเครือข่ายครอบครัว ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า นวัตกรรมทางสังคมควรจะมีประโยชน์ และสามารถกระจายไปได้ โดยบางครั้งก็ต้องไปดู Study case จากต่างประเทศมาปรับใช้ อย่างเรื่องการดูแลจิตใจของเด็ก การสับหว่างเวลาเรียน การเรียนออนไลน์ เหล่านี้คือนวัตกรรมเชิงนโยบาย หรือนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน ด้วยเช่นกัน


คุณปฏิพัทธ์ สุสำเภา ผู้ก่อตั้ง Opendream บริษัทที่นำเอาความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาช่วยเหลือสังคม กล่าวถึงปัจจัยที่เป็นตัวเร่งให้เกิดความร่วมมือในการทำงานของกลุ่มคนที่เป็น Active Citizen คือ 1. โอกาส ซึ่งโอกาสในที่นี้ คือการมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นตัวเร่งให้ทุกอย่างเร็วขึ้น ทุกคนสามารถที่จะเข้าถึง หรือช้อปปิ้งการมีส่วนร่วมได้เลยในมุมที่แต่ละคนมีศักยภาพ เช่น มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านหมออาสา ก็สามารถที่จะร่วมทำ Home Isolation ได้ หรือไม่มีความเชี่ยวชาญ แต่มีทุนทรัพย์ ก็สามารถร่วมบริจาคผ่าน Crown funding Online ได้ 2. ภัยคุกคาม ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่คิดว่าไม่ค่อยได้ส่งเสริมให้ได้เกิดการมีส่วนร่วมได้อย่างยั่งยืน คือ การมองทุกอย่างเป็นแนวตั้งในมุมของภาครัฐ ขณะที่ประชาชนมองเป็นแนวขวาง โดยส่วนตัวคิดว่า ประชาชนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐ เพียงแต่รัฐอาจจะต้องอำนวยความสะดวกให้กับแนวขวางร่วมด้วย


“การสร้างนวัตกรรมทางสังคมเป็นเกมยาว อาจจะต้องใช้หนึ่งเจนเนอร์เรชั่น สองเจนเนอร์เรชั่น ในการเปลี่ยนแปลง จุดเดียวที่สำคัญคือ คิดเผื่อไว้ว่าลูกหลาน อย่างยุคผม ยุคคนปัจจุบัน ที่เป็นตัวขับเคลื่อนทางสังคมอยู่ อาจจะมองว่าเบบี้บูมเมอร์จะเป็นปัญหาอะไร อย่างน้อยนึกถึงลูกหลานเรา เขาอาจจะมองเราว่าเป็น ดราม่าบูมเมอร์ ดังนั้น อยากให้ลูกหลานมองเราอย่างไร ก็อย่าทำในสิ่งที่ลูกหลานจะด่าเราได้” คุณปฏิพัทธ์ กล่าวทิ้งท้าย


รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้กล่าวในช่วงท้ายว่า การประชุมวิชาการฯ ในวันนี้ จะเห็นคีย์เวิร์ดหลัก ๆ คือ คำว่า Open Mindset คือทำอย่างไรให้กลายเป็นคนที่เปิดใจพร้อมรับฟังซึ่งกันและกัน , Sustainability ทำอย่างไรให้มีความยั่งยืน เป็นระบบ หรือมีวิธีการอย่างไร ให้เกิดจิตอาสาในรูปแบบต่าง ๆ แบบยั่งยืน แทนที่มาแบบเพียงเฉพาะกิจ และสิ่งหนึ่งคือ วิธีการคิดบูรณาการ ที่จะประสานสิบทิศได้อย่างไร นำเอาความเก่งในแต่ละด้านทุกภาคส่วนมาบูรณาการกัน ซึ่งถ้าทำได้ก็จะดีมาก ทั้งนี้ เรื่องของจิตสาธารณะ ที่มักพูดถึง คือ เรื่องของสภาพจิตใจ ที่ประชากรในบ้านเรานอกจากจะมีความเป็น Active Citizen แล้ว ยังมีจิตใจที่งดงามด้วย พร้อมในการที่จะช่วยเหลือและเอื้ออาทร ซึ่งความเข้าอกเข้าใจกันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

Download PDF Press Release _พบคนรุ่นใหม่พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนวัตกรรมทางสังคม