วันนี้ (20 สิงหาคม 2564) ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) โดยกลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมและระบบพฤติกรรมไทย จัดประชุมร่วมกับคณะนักวิจัยที่ร่วมพัฒนาโครงการสำคัญตามแผนปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบหลัก

 

ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ประกอบไปด้วยงานศึกษาแนวคิดและความเป็นไปได้ในการปรับใช้กลไกระบบเครดิตสังคม (Social Credit) งานพัฒนาดัชนีชี้วัดคุณธรรม งานพัฒนามาตรฐานด้านคุณธรรมและกระบวนการรับรองการเป็นองค์กรส่งเสริมคุณธรรม โดยมี รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ร่วมแลกเปลี่ยนและให้ข้อเสนอแนะกับคณะนักวิจัย

          งานศึกษาแนวคิดและความเป็นไปได้ในการปรับใช้กลไกระบบเครดิตสังคม (Social Credit) คณะนักวิจัยจากสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอแนวคิดการดำเนินงานระบบเครดิตสังคมโดยเน้นมุมมองเชิงบวก พัฒนาในระดับครอบครัว ชุมชน/องค์กร และสังคม โดยคำนึงถึงความแตกต่างเชิงพื้นที่ทั้งชนบท กึ่งเมืองกึ่งชนบท และเมือง รวมทั้งได้ให้ข้อเสนอว่าควรหาภาคีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนร่วมกัน

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่าระบบเครดิตสังคมนอกจากขับเคลื่อนเชิงบวกแล้ว ต้องมีโมเดลที่หลากหลาย เป็นระบบเปิดที่มีความยืดหยุ่น กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และเป็นขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยเป้าหมายของเครดิตทางสังคมคือ “เป็นสิ่งที่ชื่นชมคนที่มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป”  

         งานพัฒนาดัชนีชี้วัดคุณธรรม ผศ.ดร.วิไลลักษณ์ ลังกา อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้นำเสนอการพัฒนาดัชนีชี้วัดคุณธรรม ช่วงอายุ 25-40 ปี ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการทดลองใช้เครื่องมือ

         งานพัฒนามาตรฐานด้านคุณธรรมและกระบวนการรับรองการเป็นองค์กรส่งเสริมคุณธรรม เป็นการแลกเปลี่ยนแนวคิดกันระหว่างคณะนักวิจัยจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ดำเนินงานพัฒนามาตรฐานด้านคุณธรรม และคณะนักวิจัยจากศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ดำเนินงานพัฒนากระบวนการรับรองการเป็นองค์กรส่งเสริมคุณธรรม โดยประเด็นสำคัญในการแลกเปลี่ยน คือการเชื่อมร้อยงานมาตรฐานด้านคุณธรรมกับงานพัฒนากระบวนการรับรองเข้าด้วยกัน โดยทั้งสองงานอยู่บนหลักของการมององค์กรเป็นระบบชีวิต (Living system) และมาตรฐานด้านคุณธรรมคือเครื่องมือที่ช่วยในการพัฒนาองค์กร ขณะที่กระบวนการรับรองเป็นเครื่องมือในการหนุนเสริม ประเมินผลเพื่อการพัฒนา

       รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ได้ให้แนวทางการเชื่อมโยงงานของทั้งสองส่วนว่ากระบวนการต้องเป็นพลังบวก ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามบริบทได้ และเป็นกระบวนการแบบเสริมพลังบวก (Positive empowering) โดยเครื่องมือที่น่าจะนำมาใช้ เช่น AI: Appreciate Inquiry (กระบวนการตั้งคำถามเชิงสร้างสรรค์) DE: Development Evaluation (การประเมินผลเชิงพัฒนา)

       การดำเนินงานหลังจากนี้ ทางศูนย์คุณธรรมจะจัดการประชุมแลกเปลี่ยนการดำเนินงานของโครงการสำคัญของแผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปประเทศ (Big Rock) ด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการบูรณาการงานต่อไป

 


ข่าวโดย กลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมและระบบพฤติกรรมไทย