10 มิถุนายน 2564 ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) โดยกลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมและระบบพฤติกรรมไทย จัดประชุมวิชาการคุณธรรมในพื้นที่ทางสังคม:  โควิด-19 จากบทเรียนสู่การเรียนรู้ (Covid–19 2021 : Lesson and Learn) ผ่านระบบออนไลน์ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา สื่อสารมวลชน และภาคพลเมืองที่ทำงานในประเด็นพัฒนาเมือง

 

มาร่วมกันแลกเปลี่ยนประเด็นต้นทุนความดีในการตั้งรับและปรับตัว (resilience) ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และภาพอนาคตของการส่งเสริมต้นทุนความดีให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

     ช่วงเสวนา “เจาะพฤติกรรมคนไทย ในวิกฤตโควิด ระลอกใหม่” รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม นำเสนอแนวโน้มสถานการณ์คุณธรรมปี 2564 ช่วง Covid-19 ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด พบพฤติกรรมเชิงบวกด้านจิตอาสา เช่น การช่วยเหลือกันของคนในสังคมไทย ความกตัญญู เช่น เด็กช่วยพ่อแม่ทำงาน หาเลี้ยงครอบครัว พฤติกรรมเชิงลบ ด้านวินัย เช่น ฝ่าฝืนมาตรการป้องกันโควิด-19 ด้านทุจริต เช่น การลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ การฉ้อโกง สำหรับผลการประเมินความเครียดในสถานการณ์ Covid-19 ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 จากผู้ทำแบบประเมินจำนวน 7,514 คน ระหว่างเมษายน 2563 – พฤษภาคม 2564 พบว่าเริ่มมีความเครียดวิตกกังวลปานกลาง 52.93% (3,977 คน) ภาวะปกติ 44.92% (3,375 คน) และเครียดมากเกินที่ต้องขอความช่วยเหลือ 2.15% (162 คน) โดย 5 อันดับอาชีพที่มีความเครียดสะสมคือ
1. นักเรียน/นักศึกษา (957 คน)

2. พนักงานบริษัท (508 คน)

3. ครู/อาจารย์ (487 คน)

4. ข้าราชการ (380 คน)

5. รับจ้างทั่วไป (148 คน)

     ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยเสนอว่าถ้าสังคมไทยมี 1. voluntary mind สนใจเรื่องสาธารณะ 2. การสร้างความเติบโตภายใน จะลดความรุนแรงในครอบครัวได้ ดร.เจษฎา ศาลาทอง นำเสนอสถานการณ์สื่อช่วงการระบาดของโควิด-19 ว่าเกิดภาวะ infodemic หรือการแพร่ระบาดของข้อมูลที่บิดเบือน ประชาชนจำเป็นต้องได้รับวัคซีน คือการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อเพิ่มความสามารถในการเลือกรับสื่อ ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช เสนอถึงพฤติกรรมคนวัยทำงานในสถานการณ์โควิดที่เผชิญแรงกดดันทั้งจากความเร่งด่วน เทคโนโลยี (telepressure) การทำงานที่บ้าน (work from home) และได้เสนอ 3 ทักษะจัดการความเครียด คือ ความเข้าใจซึ่งกันและกัน  ไม่ตัดสินคนอื่นทันที และคำนึงถึงความแตกต่าง

     ช่วง“เมือง จิตสำนึกสาธารณะ และภาคพลเมืองกับการรับมือโควิด-19” รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้เสนอแนวคิดเก้าอี้สามขารับมือสถานการณ์โควิด-19 คือ คุณภาพของระบบสาธารณสุข ทุนทางสังคม และมาตรฐานในการบริหารจัดการ โดยการพัฒนาทุนทางสังคมในส่วนของจิตสาธารณะ ต้องมองถึงกลุ่มสตาร์ทอัพ พลังของคนรุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมควบคู่กันไป คุณสุรนาถ แป้นประเสริฐ กลุ่ม “บางกอกนี้ดีจัง” กล่าวถึงงานชุมชนว่าต้องเรียนรู้ร่วมกันและฐานข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทำให้เห็นระดับของการแก้ปัญหา รวมถึงความต้องการของคนในพื้นที่ คุณคริส โปตระนันทน์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย (Zendai) กล่าวถึงการทำงานที่เชื่อมโยงประสานคน ระดมทรัพยากร เพื่อช่วยรับ-ส่ง ผู้ติดเชื้อโควิด-19 และเสนอว่าควรมีการวางกรอบงานอาสาสมัครให้มีความยั่งยืน เช่น การคิดถึงระบบการให้ทุน (funding) ระบบอาสาสมัครแบบมีค่าตอบแทน (paid volunteer)

     ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จัดประชุมวิชาการ “คุณธรรมในพื้นที่ทางสังคม” มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 โดยมุ่งหวังให้งานประชุมวิชาการนี้เป็นการสร้างพื้นที่ความรู้ (Knowledge space) ของการส่งเสริมคุณธรรมที่มาจากการแลกเปลี่ยนแนวคิด ทฤษฎี และปฏิบัติการจริงในพื้นที่ทางสังคม


เขียนข่าว : นางสาวธัญลักษณ์ ศรีสง่า หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมและระบบพฤติกรรมไทย