วันที่ 11-12 มีนาคม 2564 ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) นำโดย นายอิทธิพร วันดี ผู้ทรงคุณวุฒิศูนย์คุณธรรม นายบุญญานนท์ ศรีโท และนางสาวจินดารัตน์ ทิพโรจน์ นักวิชาการส่งเสริมคุณธรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมกลไกการดำเนินงานแบบเสริมพลังและถอดบทเรียนกรณีศึกษาในพื้นที่องค์กรคุณธรรมต้นแบบ

 

ร่วมกับ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย โดยมี นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมบุคลากร และคณะทำงานติดตามประเมินผลแบบเสริมพลังจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

โดยกำหนดการเยี่ยมชมฯ องค์กรคุณธรรมต้นแบบ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่
      1) ชมรมคนดีศรีเชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย : ชมรมที่รวมกลุ่มกันเพื่อเฟ้นหาคนที่ดีมีคุณธรรมให้มารับรางวัลบุคคลดีเด่นด้านคุณธรรม ให้คนในจังหวัดเชียงรายได้ทราบและยกย่องผู้ทำคุณความดี คุณประโยชน์ต่อจังหวัดเชียงราย โดย ผศ.ดร.เด่นศักดิ์ สุริยะ ผู้ก่อตั้งชมรมคนดีศรีเชียงราย เล่าว่า...ชมรมฯ ได้ดำเนินการส่งเสริมยกย่องบุคคลที่ทำความดี ตลอดจนการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมล้านนา เพื่อยกย่องให้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อคนในสังคม โดยได้มีการยกระดับการเฟ้นหาคนที่ดีมีคุณธรรมให้มารับรางวัลบุคคลดีเด่นด้านคุณธรรมทั้งเชิงรุกและประจำปี

ปัจจุบันได้มีการปักธงคุณธรรมขยายเครืเลยอข่ายสร้างสาขาระดับอำเภอ 14 สาขา และตั้งเป้าหมายในการค้นหาบุคคลดีมีคุณธรรมในระดับตำบลทุกตำบล อย่างน้อยให้ได้ปีละ 300 คน เพื่อเข้ารับการคัดเลือก ทั้งนี้ รางวัลต้นแบบคนดีศรีเชียงราย จะได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าคุณพระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) เป็นประธานมอบรางวัลในทุกปี

     2) ศูนย์ดนตรี กวี ศิลป์ล้านนา (ภาคเหนือ) อ.เมือง จ.เชียงราย : ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และการทำความดีอย่างต่อเนื่องของ ดร.ศันสนีย์ อินสาร ผู้อำนวยการศูนย์ฯ และโรงเรียนสืบศิลป์แผ่นดินล้านนา มหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ ที่ดำเนินงานร่วมกับเครือข่าย เผยแผ่ศิลปวัฒนธรรมล้านนาครอบคลุม 18 อำเภอในจังหวัดเชียงราย ที่ช่วยกันผลักดันและส่งเสริมให้เด็ก เยาวชนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและใกล้เคียงได้เรียนรู้ดนตรีและศิลปวัฒนธรรม โดยจะเป็นสื่อควบคู่กับวิชาชีวิต แก้วิกฤติ เสริมสร้างพลังบวก และเป็นการรักษา สืบสาน เผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นล้านนาจากรุ่นสู่รุ่นให้สืบเนื่องต่อไป อีกทั้งยังเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และเติมความฝันให้กับเด็ก

        โดยศูนย์ฯ ได้รับการประกาศให้เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นผลมาจากการร่วมบูรณาการของภาคประชาชน โรงเรียน และหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ที่ได้เห็นความสำคัญ พร้อมทั้งให้การสนับสนุน จนได้รับรางวัลมากมาย ซึ่งเป็นผลมาจากการนำ การเสียสละ และการอุทิศตน ของ ดร.ศันสนีย์ อินสาร พร้อมด้วยผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่จะสร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ รวมถึงการสร้างความสุข รอยยิ้ม ผ่านดนตรี กวี ศิลป์ล้านนา ให้กับทุกคนต่อไป

       3) กลุ่มเมล็ดพันธุ์พบดินเพื่อพ่อของแผ่นดิน อ.แม่ลาว จ.เชียงราย : อยู่ในเครือข่ายโรงเรียนสืบศิลป์แผ่นดินล้านนา มหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวัน) ได้จัดตั้งโครงการ “พี่สร้างสรรค์ น้องสร้างศิลป์” ขึ้นเพื่อให้เกิดสิ่งสร้างสรรค์ มากกว่าสังสรรค์ เปรียบเทียบเสมือนการปลูกเมล็ดพันธุ์ที่ดีงาม และคอยดูแลใส่ปุ๋ยรดน้ำเอาใจใส่ให้เจริญงอกงามแผกิ่งก้านสาขาเป็นร่มเงาให้ผู้อื่นอาศัย ออกดอก ออกผลผลิบานเจริญงอกงาม เป็นต้นไม้ใหญ่สืบต่อไป จากรุ่นสู่รุ่น จากยุคสู่ยุคโดยมีการจัดกิจกรรม การสอนดนตรีพื้นเมือง นาฏศิลป์พื้นเมือง วิถีชีวิต (การทำนา) ศิลปะ การเรียนอักษรล้านนา (ตั๋วเมือง) ศิลปะการดำเนินชีวิต และที่สำคัญคือการปลูกฝังให้เยาวชนกลุ่มนี้มีคุณธรรมจริยธรรม ดำเนินชีวิตตามเศรษฐกิจพอเพียง มีจิตอาสา ช่วยเหลือเกื้อกูล มีความกตัญญู และมีจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิด เพื่อสืบทอดภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมอันดีงามให้อยู่คู่สังคมไทยต่อไป “เมล็ดพันธุ์ดี อยู่กี่หมื่นปีก็เจริญงอกงาม”

       4) ชุมชนคุณธรรมต้นแบบบ้านสันทางหลวง อ.แม่จัน จ.เชียงราย : เป็นชุมชนคุณธรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ และมีวัฒนธรรมประเพณีคนยองที่มีเอกลักษณ์ ถูกคัดเลือกให้เป็น "หมู่บ้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์" จากกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยการใช้หลัก "บวร" บ้าน วัด โรงเรียน เป็นศูนย์กลางการพัฒนา โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้คนทุกคน ทุกครอบครัวในชุมชน เป็นคนดี มีคุณธรรม อยู่กันด้วยความรัก สามัคคี รู้จักพอเพียง พออยู่พอกิน ภาคภูมิใจ รักษาหวงแหน วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของชาวไทยยอง ไว้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เกิดเป็นการสร้างอาชีพมีรายได้ถึง 18 กลุ่ม อาทิ การนำทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนาต่อยอดเชื่อมโยงการท่องเที่ยว เปิดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เที่ยววิถีไท วิถียอง ผ่านโฮมสเตย์ อาหาร งานปักผ้า การทอตุงล้านนา ตุ๊กตาคนยองของที่ระลึก เครื่องจักสานไม้ไผ่ การฟ้อนรำสไตล์ยอง และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีนักท่องเที่ยวและผู้ที่มาศึกษาเรียนรู้ดูงาน เฉลี่ยปีละกว่า 3,000 คน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนตลอดทั้งปี

        ทั้งนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย นายอิทธิพร วันดี ผู้ทรงคุณวุฒิศูนย์คุณธรรม และคณะทำงานติดตามประเมินผลแบบเสริมพลังจังหวัดเชียงราย ได้ให้ข้อคิดเห็นต่อการดำเนินงาน พร้อมทั้งเสริมพลัง ให้กำลังใจ องค์กรคุณธรรม ในการสร้างสรรค์ ส่งเสริมคุณธรรม ให้กับสังคม เพื่อขยายผลในพื้นที่และมุ่งสู่การเป็นจังหวัดคุณธรรมเชียงรายต่อไปในอนาคต


ข่าวโดย : นางสาวจินดารัตน์ ทิพโรจน์ นักวิชาการส่งเสริมคุณธรรม กลุ่มงานส่งเสริมคุณธรรมเครือข่ายทางสังคม
ภาพข่าว : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย และนายบุญญานนท์ ศรีโท นักวิชาการส่งเสริมคุณธรรม กลุ่มงานสมัชชาคุณธรรมและความร่วมมือนานาชาติ