วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) โดยกลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมระบบพฤติกรรมไทยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดตัวชี้วัดคุณธรรมร่วมกับภาคีเครือข่ายจังหวัดเชียงราย ณ โรงแรม ดิอิมพีเรียล ริเวอร์เฮาส์รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย การประชุมครั้งนี้เป็นการร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่สะท้อนพฤติกรรมเชิงคุณธรรมจากภาคี 6 เครือข่าย

ประกอบไปด้วย 1) เครือข่ายองค์กรภาครัฐ  2) เครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน 3) เครือข่ายศาสนา 4) เครือข่ายการศึกษา 5) เครือข่ายสื่อมวลชน 6) เครือข่ายภาคประชาสังคม ชุมชน ครอบครัว และนำข้อมูลที่เกิดขึ้นไปพัฒนาตัวชี้วัดคุณธรรมระดับบุคคลในรูปแบบประเมินตนเอง (Self-assessment) โดยตัวชี้วัดคุณธรรมนี้เมื่อพัฒนาแล้วเสร็จ จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อรายงานสถานการณ์คุณธรรมของสังคมไทยต่อไป

          การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 61 คนจาก 6 เครือข่าย กระบวนการที่ใช้เป็นกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญา เพื่อเก็บข้อมูลด้านคุณธรรมด้วยวิธีเชิงคุณภาพแบบ Inside out approach โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทีมวิทยากรกระบวนการ ซึ่งประกอบไปด้วย คุณจารุปภา วะสี  จากมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แม่ ดร. ศักดิ์ชัย อนันต์ตรีชัย คุณรัชนี วิศิษฎ์วโรดม จากศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล คุณสุสินี วรศรีโสทร จากมูลนิธิสหธรรมิกชน และทีมวิชาการกลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมระบบพฤติกรรมไทย ศูนย์คุณธรรม

          กระบวนการเรียนรู้ออกแบบให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้พฤติกรรมคุณธรรมระดับบุคคลใน 5 ประเด็น คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตสาธารณะ และรับผิดชอบ ผ่านสามฐานของชีวิต คือ ฐานหัว (ความคิด) (ความคิด) ฐานใจ (ความรู้สึก) และฐานกาย (การลงมือทำและมีประสบการณ์ตรง) โดยแบ่งกลุ่มภาคี 6 เครือข่ายออกเป็น 4 ช่วงวัย (Generation) คือ 1) Baby Boomer คนสูงอายุ เกิดปี พ.ศ.2489-2507 (อายุ 55-73 ปี) 2) Generation X คนวัยทำงาน เกิดปี พ.ศ.2508-2523 (อายุ 39-54 ปี) 3) Generation Y คนวัยเริ่มต้นทำงาน เกิดปี พ.ศ.2524-2539 (อายุ 23-38 ปี) 4) Generation Z คนกลุ่มวัยนักเรียน นักศึกษา เกิดปี พ.ศ.2540–2550 (อายุ 13-22 ปี)

          ภายในงานผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนพฤติกรรมด้านคุณธรรม 5 ประเด็นที่สะท้อนถึงวิธีคิดและชุดประสบการณ์ที่หลากหลายไปตามช่วงวัย เพศภาวะ ชาติพันธุ์ รวมทั้งยังสะท้อนถึงประเด็นคุณธรรมที่ตีความต่างกันไปตามบริบทของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัว ที่ทำงาน ชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม โดยผลที่เกิดขึ้นในงานครั้งนี้ นอกจากชุดข้อมูลที่ทีมวิชาการต้องนำไปพัฒนาตัวชี้วัดคุณธรรมต่อไปแล้ว ผู้เข้าร่วมยังสะท้อนว่าเป็นจุดเริ่มสำคัญของการสร้างภาคีเครือข่ายที่เคลื่อนงานด้านคุณธรรมด้วยงานความรู้

          ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดตัวชี้วัดคุณธรรมเป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการพัฒนาตัวชี้วัดคุณธรรมเพื่อขับเคลื่อนสู่สังคมคุณธรรม สนับสนุนโดยแผนงานคนไทย 4.0 การประชุมเชิงปฏิบัติการในรูปแบบนี้จะจัดขึ้นอีก 3 ครั้งใน 3 พื้นที่ คือ พระนครศรีอยุธยา อุดรธานี และสุราษฎร์ธานี


 

เขียนข่าว: ธัญลักษณ์ ศรีสง่า/ กลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมและระบบพฤติกรรมไทย

ถ่ายภาพ: เนตรนภา หนองแบก/ กลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมและระบบพฤติกรรมไทย