วันที่ 4 มีนาคม 2562 รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมเสวนา “การศึกษาสะท้อนพลเมืองรุ่นใหม่มีวินัย รักถิ่นฐาน” ในเวทีรับฟังความคิดเห็น Youth Voice Forum พลเมืองรุ่นใหม่มีวินัย รักถิ่นฐาน New Generation : We Change World Change

ซึ่งจัดโดย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมกับ ศูนย์คุณธรรม สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ไทยพีบีเอส สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ได้รับเกียรติจาก เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุภัทร จำปาทอง) เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น Youth Voice Forum ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สกศ. มีผู้แทนสภานักเรียนระดับประเทศ ผู้แทนสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ผู้แทนศูนย์การเรียนนอกระบบ พร้อมด้วยคณะนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย นักเรียนอาชีวศึกษา นิสิต นักศึกษาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จำนวน 100 คน ร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปปลี่ยนเรียนรู้แบบ World Café เสนอแนวคิดสร้างวินัยในการอยู่ร่วมกัน ทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคมอย่างสันติสุข เคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน ผ่านประเด็นคำถาม 4 กลุ่มคำถาม ได้แก่ 1. วินัยมีคุณค่า และมีประโยชน์กับตัวเรา สังคม และประเทศชาติอย่างไร 2. เราจะสร้างวินัยอย่างสนุกสนานได้อย่างไร 3. หากมีถุงมือวิเศษทานอส มีอำนาจที่สามารถทำอะไรก็ได้จะทำอะไรบ้าง และ 4. อยากเห็นบรรยากาศ สถานที่ คน เช่น ครู นักเรียนเป็นแบบไหนที่จะสร้างวินัยของเราได้

          ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่ สกศ. และเครือข่ายความร่วมมือทางการศึกษาใช้เวทีนี้สำหรับแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคนรุ่นใหม่ ผู้แทนเยาวชน 100 คน ถือเป็นตัวแทนคนอีก 10 ล้านคน ถึงแม้เป็นคนส่วนน้อยแต่ก็มีความหนักแน่นด้านความคิดริเริ่มที่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะประเด็นการสร้างวินัยเป็นเรื่องสำคัญที่เป็นพื้นฐานสำหรับคนไทย ซึ่งเป็นเวทีที่ดีในการรับฟังความคิดเห็นคนรุ่นใหม่ในการเสนอแนวคิดการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับคนไทยในอนาคต

          นายธาดา เศวตศิลา ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน สกศ. และประธานคณะทำงานที่ 5 สร้างอิทธิพลข่าวสารและสื่อสารการตลาด ในคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจ (อนุ กกส.เฉพาะกิจ) ด้านการสร้างพลเมืองดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ กล่าวว่า ความร่วมมือของเครือข่ายทั้งหมดช่วยกันเปิดพื้นที่ให้เยาวชนจากหลากหลายกลุ่มได้สะท้อนตัวตนและพัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่เหมาะสมในศตวรรษที่ 21 ภายใต้แนวคิด “สร้างพลเมืองดี มีวินัย รักถิ่นฐาน” มีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ในการอยู่ร่วมกัน ทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคมอย่างสันติสุข เคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะแนวทางการสร้างวินัยอย่างไรในการอยู่ร่วมกัน เพื่อให้ประเทศเกิดความสันติสุข 2) เพื่อรับฟังความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนในด้านการศึกษา สังคม และประเทศ รวมถึงแนวความคิดของเด็กและเยาวชนว่าต้องการเห็นสังคมไทยเป็นแบบใด ตลอดจนมีวิธีการสื่อสารเพื่อลดการสร้างความแตกแยก ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และ 3) เพื่อส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมที่มีวินัย สื่อสารกันด้วยด้วยสันติวิธี

          รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กล่าวทิ้งท้ายการจัดเวทีในครั้งนี้ว่า “ทำอย่างไรให้ระเบิดจากข้างใน ถ้าเราเปลี่ยนตัวเราได้ ในอนาคตข้างหน้าโลกจะเปลี่ยนแปลงมากมาย (โลกยุคดิจิทัล) คนที่ชาญฉลาด รู้เท่าทัน มีวินัยในตนเอง มีวินัยต่อสังคม รู้วิธีการจัดการชีวิตให้อยู่ในสังคมได้เท่านั้นที่จะรอด ในอนาคตอัตราการฆ่าตัวตายจะเพิ่มขึ้น WHO คาดการณ์ว่า suicidal rate จะเป็นอัตราตายลำดับที่ 2 รองจาก noncommunicable disease (เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจหลอดเลือด) จากปัจจุบันอยู่ที่ 2 คนต่อวัน โลกหมุนเร็ว เป็น fast life เราคิดว่าเรา change ตัวเรา เราจะไม่ข้องแวะกับภาวะซึมเศร้า แล้วคนรอบข้างจะสัมผัสได้ถึงรัศมีความดีของเรา คนแรกที่จะได้อานิสงส์ คือ ตัวเราเอง คนในครอบครัวก็จะได้อานิสงส์ตามไปด้วย เมื่อเราประพฤติอย่างไร ลูกหลานที่ดูเราก็จะทำแบบนั้น นี่คือ key word ของ #WeChangeWorldChange และเป็นกำเนิด #กุศลเซลล์ และจะทำให้ไม่เกิด #อกุศลโครโมโซม จะเป็นจุดเปลี่ยนประเทศที่ไม่จำเป็นต้องรอนโยบายใดๆ ที่บ่อยครั้งคุยกันไม่รู้เรื่อง...”

          ทั้งนี้ ผู้แทนเยาวชนได้ร่วมกันกำหนดกรอบแนวทางการสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ มีวินัย รักถิ่นฐาน ที่มีสาระสำคัญ คือ การให้นิยามความหมายคำว่า วินัย ในมุมมองของผู้แทนเยาวชนจากหลากหลายสถาบัน ซึ่งมีมุมมองหลากหลายแตกต่างกันไป เช่น วินัย เหมือนต้นไม้ค่อยเติบโต หยั่งรากลึกลงอย่างมั่นคงผ่านกาลเวลา วินัย คือ สิ่งเชื่อมผู้คนที่หลากหลายให้อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนเหมือนแถบรุ้งที่ไล่โทน วินัย คือ สัญญาณไฟ ต้องรู้จักอดทน รอเวลา วินัยจากบันไดเลื่อนเป็นตัวอย่างง่ายๆ ที่เราจะยืนต่อกันเพื่อระเบียบส่วนรวมด้วยการมีวินัย ส่วนตัว วินัย เหมือนดอกไม้ ต้องบำรุงให้ดีจึงจะสวยงามอยู่เสมอ วินัย เหมือนการให้ทางรถฉุกเฉินเป็นไปโดยอัตโนมัติเพื่อสังคมและผู้คน วินัย เหมือนมือถือ เราใช้มันอย่างสม่ำเสมอแบบไม่ต้องกำหนดบังคับใดๆ วินัย เหมือนตื่นเช้าแล้วเก็บที่นอนเอง เริ่มต้นได้ง่าย ทำได้ทันที เริ่มที่ตัวเอง และวินัย ไม่ใช่ข้อบังคับ แต่เป็นอิสระที่เราไม่เบียดเบียนใครทั้งตนเองและผู้อื่น เติบโตอย่างยั่งยืน ฯลฯ โดยสรุป นิยามความหมายของวินัย หมายความถึง การเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน หากในสังคมมีความเท่าเทียม ให้เกียรติซึ่งกันและกัน สังคมก็จะมีระเบียบวินัย ปฏิบัติตนไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ดี ศูนย์คุณธรรม จะสานต่อกระบวนการสร้างพลเมืองรุนใหม่ มีวินัย รักถิ่นฐาน โดยส่งเสริมให้เยาวชนที่สนใจ เป็น “ยุวทูตทางวินัย” โดยให้ทำคลิปบอกว่า “ตัวเองอยากเปลี่ยนแปลงเรื่องอะไรใกล้ตัวมากที่สุด” และศูนย์คุณธรรมจะทำเป็น viral clib คัดเลือกเพื่อมอบเกียรติบัตรให้เป็นยุวทูตด้านวินัย แข่งกันทำดีที่เป็นพลังบวก ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนและสังคมได้.


เขียนข่าว : นางสาววิชดา นฤวรพัฒน์ / กลุ่มงานสื่อสารเพื่อรณรงค์ทางสังคม

ถ่ายภาพ : นายจักราชัย ทองเพ็ชร์ / กลุ่มงานสื่อสารเพื่อรณรงค์ทางสังคม