วันที่ 29 มกราคม 2562 ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จัดเวทีระดมสมองพัฒนาดัชนีชี้วัดด้านคุณธรรมในสังคมไทย (เวทีที่ 2) ภายใต้โครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในการส่งเสริมสังคมคุณธรรม เพื่อพัฒนาดัชนีชี้วัดด้านคุณธรรม

พอเพียง วินัย สุจริต จิตสาธารณะ และรับผิดชอบ ร่วมกับเครือข่ายทางสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม ณ ห้องประชุมรัชวิภา โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ

         ภายในงานมีการเสวนา “ปฏิบัติการดัชนีชี้วัด” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม คุณศิวโรฒ จิตนิยม ประธานเครือข่ายความสุขชุมชน และคุณจรูญ ศิริสรณ์ กรรมการบริหาร บริษัทริกิการ์เม้นส์ จำกัด ร่วมแลกเปลี่ยนและให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาดัชนีชี้วัดด้านคุณธรรม

         ดร.สีลาภรณ์ กล่าวถึงแนวทางการจัดทำดัชนีชี้วัดที่ดีว่า 1. ต้องให้ทิศทาง (Direction) นำไปสู่เป้าหมาย 2. ต้องวัดได้ มีความเป็นวัตถุวิสัย (Objective) 3. เป็นภาพตัวแทนประเด็นนั้นได้จริง (Represent) สำหรับ คุณศิวโรฒ ซึ่งมีประสบการณ์พัฒนาตัวชี้วัดความสุขชุมชนตำบลหนองสาหร่าย ถ่ายทอดประสบการณ์ว่าการพัฒนาตัวชี้วัดความสุข ชุมชนต้องปรับ 3 อย่าง คือ  1. ปรับตัว ให้เป็นน้ำ อยู่กับการเปลี่ยนแปลงได้ 2. ปรับจากทฤษฎีน้ำตก (การสั่งการแบบ Top – down) ให้เป็นทฤษฎีน้ำพุ (การระเบิดจากข้างใน) 3. ปรับจากการใช้ GDP (ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ) ในการชี้วัด มาเป็นทุกคนในชุมชนต้องมีความสุข ในส่วนของคุณจรูญ สะท้อนมุมมองภาคธุรกิจว่า ที่ผ่านมาระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ มักมาจากผู้บริหาร แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป มีการเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการคิดและพัฒนาตัวชี้วัดมากขึ้น โดยบริษัทได้ร่วมกับศูนย์คุณธรรมพัฒนาเครื่องมือ Happy Moral Index (HMI) ให้พนักงานประเมินความสุขของตนเอง เพื่อให้เห็นว่าจะเสริมสร้างความสุขในมิติใดต่อไป

         กระบวนการพัฒนาดัชนีชี้วัด คุณธรรม พอเพียง วินัย สุจริต จิตสาธารณะ และรับผิดชอบ ที่ประชุมได้ใช้การระดมความคิดเห็น โดย คุณจารุปภา วะสี ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑ์แม่ เป็นวิทยากรกระบวนการ ผลจากการระดมสมองพบว่า การพัฒนาตัวชี้วัดส่วนมากเป็นการนำตัวชี้วัดที่มีการใช้งานจริงมาปรับใช้ โดยเป็นตัวชี้วัดที่เน้นการส่งเสริมคุณธรรมในมิติต่างๆ เช่น การดำเนินงานของธนาคารขยะ ธนาคารความดี การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการตรวจสอบถ่วงดุลโครงการพัฒนาจากภาครัฐในรูปแบบต่างๆ

         ช่วงท้ายเป็นการร่วมมองภาพอนาคตถึงการนำดัชนีชี้วัดคุณธรรม 5 ประเด็นไปใช้ประโยชน์ ซึ่งหลายภาคส่วนเห็นตรงกันว่า ตัวชี้วัดด้านคุณธรรมหัวใจอยู่ที่การสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม การนำไปใช้จึงต้องเริ่มจากตนเอง และรอบตัวทั้งในระดับองค์กรหรือชุมชนเท่าที่สามารถทำได้ แล้วจึงขยายผลออกไปจนเชื่อมโยงกันเป็นภาพใหญ่ของสังคม

“การพัฒนาดัชนีชี้วัดด้านคุณธรรม” เป็นหนึ่งในโครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ที่ศูนย์คุณธรรมเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริม พัฒนา และวัดผลการดำเนินงานด้านคุณธรรมของภาคส่วนต่างๆ โดยเป็นการจัดกระบวนการพัฒนาตัวชี้วัดร่วมกับเครือข่ายทางสังคม และนำผลที่ได้มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อจัดทำรายงานพัฒนาดัชนีชี้วัดคุณธรรมของสังคมไทยต่อไป 

 

 


เขียนข่าว : นางสาวเปรมกมล สมใจ/ กลุ่มงานพัฒนาองค์ความรู้นวัตกรรม

ถ่ายภาพ : นางสาวเนตรนภา หนองแบก/ กลุ่มงานพัฒนาองค์ความรู้นวัตกรรม