15 กุมภาพันธ์ 2566 รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมเวทีเสวนาทางวิชาการเรื่อง “แนวทางการพัฒนาตัวชี้วัดด้านปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักพุทธศาสนา” ในงานสัมมนาเชิงวิชาการ “การพัฒนาตัวชี้วัดด้านปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักพระพุทธศาสนา” จัดโดย วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวถึงบทบาทงานวิจัยที่ต้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยยกตัวอย่างการพัฒนาเครื่องมือทุนชีวิตและดัชนีชี้วัดคุณธรรม

 

ทุนชีวิตพัฒนาขึ้นมาจากการลงพื้นที่และพบว่าการนำหลักแก้ปัญหาเป็นตัวตั้ง (Problem based) ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงนำเรื่องพลังบวกมาใช้ ด้วยการสำรวจความดีในพื้นที่ ทุนชีวิตจึงเป็นเครื่องมือวัดพลังบวกในระบบนิเวศ เป็นเครื่องมือฟังเสียงเด็กและเยาวชนที่มาจากความต้องการของชุมชนและสังคม

 

สำหรับดัชนีชี้วัดคุณธรรม พัฒนาขึ้นโดยแปลงคุณธรรมที่เป็นเรื่องนามธรรมให้เป็นรูปธรรม เป็นวิถีแห่งชีวิต (Learning by feeling) ด้วยการถอดรหัสคุณธรรมออกเป็นพฤติกรรม 5 มิติ คือ พอเพียง วินัยรับผิดชอบ สุจริต จิตสาธารณะ และกตัญญู หลักการสร้างเครื่องมือดัชนีชี้วัดคุณธรรม ประกอบไปด้วย 1. คุณธรรมถูกถอดรหัสมาเป็นกลุ่มพฤติกรรมที่จับต้องได้ (Behavior) 2. กลุ่มพฤติกรรมถูกสะท้อนด้วยพฤติกรรมตามช่วงวัยในวิถีชีวิต (In the way of life ) 3. เป็นแบบสำรวจด้วยการประเมินตนเองจากภายใน Self Reflection)

 

 

โดยทุนชีวิตและดัชนีชี้วัดคุณธรรมเป็นหมุดหมายสำหรับวางยุทธศาสตร์ของประเทศ เช่น แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติระยะ 2

 

ช่วงท้ายของการเสวนา รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวสรุปถึงบทบาทของงานวิจัยว่า “งานวิจัยจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อแผ่นดินได้ประโยชน์ และผู้คนได้ประโยชน์”

 

 


ภาพ/ข่าว กลุ่มงานวิจัยนวัตกรรมและระบบพฤติกรรมไทย
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
???? Facebook : ศูนย์คุณธรรม https://www.facebook.com/MoralCenter
???? YouTube : Moral Channel https://youtube.com/user/moralcenter