A- A A+
ES Large 

 

จังหวัดศรีสะเกษ

"5ดี เมืองศรี อยู่ดีมีแฮง" ร่มคุณธรรมสู่ความสำเร็จ

 

          “ศรีสะเกษ” เป็นดินแดนที่ผู้คนอาศัยมาตั้งแต่ยุคก่อนที่มนุษย์เราจะมีภาษาเขียน เดิมชื่อจังหวัดขุขันธ์ เปลี่ยนชื่อเป็น จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อ พ.ศ. 2481  

          ปัจจุบันจังหวัดศรีสะเกษ มีเนื้อที่ 8,840 ตารางกิโลเมตร มี 22 อำเภอ ชาวบ้านราว 1.47 ล้านคน มีความหลากหลาย ทางชาติพันธุ์ทั้งส่วย เขมร ลาว เยอ และใช้ภาษาถิ่นต่างๆ กัน เช่น ภาษาลาว (สำเนียงลาวใต้) ภาษากูย ภาษาเยอ และภาษาเขมรถิ่นไทย ส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนและนับถือผีมาแต่เดิม ยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก

 

  


 

จังหวัดร้อยเอ็ด

รวมพลังขับเคลื่อนสังคมแห่งคนดี

 

           รอยยิ้มของชาวบ้านโพธิ์น้อยและโพธิ์ศรีสวัสดิ์ ต.โพนสูง อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด เป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ดีถึง “ความสุข” ที่ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่ความสุขได้ห่างหายไปจากชุมชนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม คนในวัยทำงานต้องหาเลี้ยงครอบครัวให้พ้นจากความยากจน ส่วนใหญ่จึงอพยพโยกย้ายไปหางานทำในเมืองใหญ่ ทิ้งเด็กๆ ให้อยู่เพียงลำพังกับปู่ย่าตายายวัยชรา กลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

          พระครูโพธิวีรคุณ เจ้าอาวาสวัดโพธิการาม ได้เล็งเห็นปัญหาและตระหนักดีถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ท่านจึงลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการพัฒนา “วัดโพธิการาม” ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนในด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม การสร้างอาชีพ โดยนำหลักศีล 5 และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต


 

จังหวัดบุรีรัมย์

ธรรมนูญหมู่บ้านสันติสุข 9 ดี คัมภีร์สร้างอนาคตที่ดีให้ลูกหลาน

 

          ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แม้จังหวัดบุรีรัมย์มีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดจากการท่องเที่ยว แต่ปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่เดิมกลับไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีไปด้วย ซ้ำร้ายยังทวีความรุนแรงและความซับซ้อนยิ่งกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ปัญหาเด็กและเยาวชน ปัญหาด้านสุขภาพ และการขาดแคลนงบประมาณในหมู่บ้านและชุมชนเมือง

          กลางปี 2557 ผู้ว่าเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ (ปัจจุบันเกษียณอายุราชการ) จึงเกิดแนวคิดในการสร้างสันติสุขที่ยั่งยืนให้กับชาวบุรีรัมย์ โดยจัดขบวนทัพใหม่ แต่งตั้งกรรมการและคณะทำงานที่มาจากทุกภาคส่วนในจังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น ตัวแทนประชาชน ฯลฯ มาร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา หาแนวทางแก้ไข กำหนดเป้าหมาย และวิธีการพัฒนา เพื่อให้เกิดสันติสุข